คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8694/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เหตุที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเพราะจำเลยขอคืนดี แต่ผู้ตายไม่ยอมคืนดีด้วย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย 1 นัด เมื่อ ส. บิดาผู้ตายเข้ามาห้าม จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิง ส. อีก 1 นัด ดังนี้ การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิง ส. ซึ่งเป็นการกระทำในครั้งหลังนี้เป็นเจตนาที่เพิ่งเกิดขึ้น ต่างไปจากเจตนาเดิมที่จำเลยยิงผู้ตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า ส. อีกกระทงหนึ่ง
เมื่อยิง ส. แล้ว จำเลยได้เข้าไปยิงผู้ตายซ้ำอีกซึ่งเป็นการยิงเพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายจริงตามเจตนาที่มีมาตั้งแต่แรกซึ่งขณะนั้น ผ. ประคองผู้ตายอยู่ กระสุนปืนจึงไปถูกน่องของ ผ. ด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80,60 เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80,91, 288, 371 ริบหัวกระสุนปืนของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะ ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน ฐานฆ่าผู้อื่นวางโทษประหารชีวิต ฐานพยายามฆ่าสองกระทง วางโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(2) ฐานฆ่าผู้อื่นคงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อวางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษกระทงอื่นของจำเลยมารวมเข้ากับโทษกระทงนี้ได้อีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) คงให้จำคุกตลอดชีวิต ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นควรยกปัญหาว่าการกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือต่างกรรม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นฎีกาก็ตาม ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมาแล้ว โดยโจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านฟังได้ว่าจำเลยและนางวิระญา ช่วยบำรุง ผู้ตายเป็นสามีภริยากัน ต่อมาได้หย่าขาดจากกัน เหตุที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเพราะจำเลยขอคืนดี แต่ผู้ตายไม่ยอมคืนดีด้วย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย 1 นัด เมื่อนายสมพงษ์ ช่วยบำรุง บิดาผู้ตายเข้ามาห้ามจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงนายสมพงษ์อีก 1 นัด แต่นายสมพงษ์ไม่ถึงแก่ความตาย เห็นว่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงนายสมพงษ์ซึ่งเป็นการกระทำในครั้งหลังนี้เป็นเจตนาที่เพิ่งเกิดขึ้น ต่างไปจากเจตนาเดิมที่จำเลยยิงผู้ตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านายสมพงษ์อีกกระทงหนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่า เมื่อยิงนายสมพงษ์แล้ว จำเลยได้เข้าไปยิงผู้ตายซ้ำอีก ซึ่งเป็นการยิงเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายจริง ตามเจตนาที่มีมาตั้งแต่แรก ซึ่งขณะนั้นมีนายผัดช่วงดี ประคองผู้ตายอยู่ กระสุนปืนจึงไปถูกน่องของนายผัดด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, ประกอบมาตรา 80, 60 เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ต้องลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90สรุปแล้วการกระทำของจำเลยเป็นความผิด 2 กรรม มิใช่ 3 กรรมดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า สมควรลงโทษจำเลยในสถานเบากว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดหรือไม่ เห็นว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแล้วตามไปยิงซ้ำอีกเพียงสาเหตุเพราะผู้ตายไม่ยอมคืนดีด้วย เมื่อบิดาผู้ตายเข้าห้ามจำเลยก็ยิงบิดาผู้ตายอีก พฤติการณ์ของจำเลยถือว่าอุกอาจไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษประหารชีวิตจำเลยนั้นเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 60 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 288 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตกับมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(2) และ 53 ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น คงจำคุกตลอดชีวิต ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นคงจำคุก 25 ปี เมื่อรวมกับโทษความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แล้ว ให้จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share