แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ป. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกและ บ. อยู่กินฉันสามีภริยากันโดยเปิดเผยเป็นที่รับรู้ของบุคคลอื่นทั่ว ๆ ไป และมีบุตรด้วยกันก่อนโจทก์แล้วคนหนึ่งซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ป. ถึงแก่ความตายขณะ บ. ตั้งครรภ์โจทก์ พฤติการณ์ของ ป. และบ. ที่ปฏิบัติต่อกันแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ป. ยกย่อง บ. เป็นภริยาและยอมรับว่าเด็กที่เกิดจาก บ. เป็นบุตร บ. ตั้งครรภ์โจทก์ขณะที่ ป. ยังไม่ถึงแก่ความตายและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นให้เห็นว่าป. ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าเด็กในครรภ์ บ. ไม่ใช่เป็นบุตรของ ป. จึงต้องถือว่า ป. ได้รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรและต้องถือว่า ป. ได้รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรตั้งแต่อยู่ในครรภ์ บ. แล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. และเป็นทายาทของ ป. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และมาตรา 1604
เมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของป. ที่จะตกทอดไปยังทายาทของ ป. ตามกฎหมาย บ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ป. โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. โจทก์จึงเป็นทายาทของ ป. แต่เพียงผู้เดียว ที่ดินพิพาทจึงตกได้แก่โจทก์ซึ่งยังเป็นเด็กเล็กและอาศัยอยู่กับ บ. มารดา ดังนั้น จึงต้องถือว่า บ. ครอบครองดูแลที่ดินพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์มาตลอด แม้ต่อมา บ. จะได้ ส. เป็นสามีและรับ ส. เข้ามาอยู่ร่วมกันในที่ดินพิพาทก็ตามแต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บ. และ ส. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนหรือเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าไม่มีเจตนายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป บ. และส. จึงไม่เกิดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและยังต้องถือว่าบุคคลทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์มาตลอดเมื่อ บ. โอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีไปกว่า บ. ผู้ครอบครองที่ดินแทนโจทก์ จำเลยจึงเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายป๋องหรือหวิงกับนางบุญช่วย เสวีวัลลภ นายป๋องได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปว่าโจทก์เป็นบุตรนายป๋องเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 13181 ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และโจทก์เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิของโจทก์และขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 13181 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า นางบุญช่วย เสวีวัลลภ มารดาโจทก์และจำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้โต้แย้งหรือคัดค้านเป็นเวลา 10 ปีเศษ จำเลยที่ 1 ยื่นขอรังวัดออกโฉนดที่ดินโดยเปิดเผยตามระเบียบขั้นตอนของทางราชการ โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวและไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลภายใน 1 ปีนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 4 และระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 13181 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายท้วม ต่ายทอง เมื่อนายท้วมถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทตกได้แก่นางเชย ต่ายทอง ภริยานายท้วม ต่อมานางเชยยกที่ดินพิพาทให้แก่นายป๋องหลานชาย นายป๋องอยู่กินฉันสามีภริยากับนางบุญช่วย เสวีวัลลภ โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เมื่อนายป๋องถึงแก่ความตายนางบุญช่วยได้นายล้น เสวีวัลลภ เป็นสามีโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 4 คน รวมทั้งจำเลยที่ 1 นางบุญช่วยกับนายสันอยู่ในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด นายสันถึงแก่ความตายวันที่ 24 ธันวาคม 2517 จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท ทางราชการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 13181 ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ให้ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการแรกมีว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โดยในปัญหาแรกนี้เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์เป็นบุตรนายป๋องหรือไม่ โจทก์ นางบุญเรืองหรือเรืองแซ่อึ้ง และนางเหม งามขำ เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า นายป๋องอยู่กินฉันสามีภริยากับนางบุญช่วยโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายหวันซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วและโจทก์นางบุญช่วยพยานจำเลยซึ่งเป็นมารดาโจทก์และจำเลยที่ 1 เบิกความว่าอยู่กินฉันสามีภริยากับนายป๋อง ขณะตั้งครรภ์โจทก์นายป๋องถึงแก่ความตายหลังจากนายป๋องถึงแก่ความตายแล้วประมาณปีเศษ จึงได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายสันและให้โจทก์ใช้นามสกุลของนายสัน นางบุญเรืองและนางเหมเป็นเพื่อนบ้านของนางบุญช่วย นางบุญเรืองมีบ้านอยู่คนละฟากถนนตรงกันข้ามกับบ้านที่นางบุญช่วยอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาท ขณะที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความ (ปี 2540) นางบุญเรืองอายุ 73 ปี และนางเหมอายุ 70 ปี จึงถือได้ว่าพยานโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลใกล้ชิดรู้จักนางบุญช่วยมารดาโจทก์และจำเลยที่ 1 มาเป็นระยะเวลานานและไม่เคยมีสาเหตุบาดหมางโกรธเคืองกันมาก่อนหรือมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องด้วย คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวจึงมีน้ำหนักรับฟังเชื่อถือได้ เมื่อฟังประกอบคำเบิกความของนางบุญช่วยพยานจำเลยซึ่งเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่เบิกความเจือสมกับคำเบิกความของพยานโจทก์ด้วยแล้ว ทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์มีน้ำหนักและมีเหตุผลเชื่อได้อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นว่าโจทก์เป็นบุตรนายป๋องที่เกิดกับนางบุญช่วยจริง ดังนั้น แม้ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.3/1 จะมีข้อความระบุว่า บิดาโจทก์ชื่อนายหวิง ก็อาจเป็นได้ว่านายป๋องอาจมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่านายหวิง ผู้แจ้งจึงได้แจ้งไปตามนั้น ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า โจทก์เป็นบุตรนายป๋องหรือหวิงซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นชื่อของบุคคลคนเดียวกัน และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงนี้มาก่อน เพิ่งจะยกขึ้นมากล่าวอ้างในชั้นนี้ว่า โจทก์ไม่ใช่บุตรนายป๋องเท่านั้น ข้อโต้แย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2จึงเป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ ขาดเหตุผลที่จะรับฟัง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรนายป๋องหรือหวิงแล้ว แม้โจทก์จะไร้นามสกุลของบิดาจำเลยที่ 1 ก็ไม่ทำให้โจทก์กลายมาเป็นบุตรของบิดาจำเลยที่ 1ไปได้ และต้องถือว่าโจทก์เป็นบุตรนายป๋องหรือหวิงตามความเป็นจริงปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนายป๋องหรือหวิงหรือไม่ โจทก์เบิกความว่า โจทก์เกิดปี 2492 นายป๋องถึงแก่ความตายปี 2492 นางบุญเรืองพยานโจทก์เบิกความว่า นายป๋องถึงแก่ความตายขณะโจทก์มีอายุหนึ่งปีเศษ หลังจากนายป๋องถึงแก่ความตายได้ 2 ถึง 3 ปี นางบุญช่วยจึงอยู่กินฉันสามีภริยากับนายสันและตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ขณะนางบุญช่วยได้นายสันเป็นสามีโจทก์อายุประมาณ 1 ปี 6 เดือน นางเหมพยานโจทก์เบิกความว่านายป๋องถึงแก่ความตายประมาณ 2 ปี นางบุญช่วยจึงได้นายสันเป็นสามีนางบุญช่วยพยานจำเลยเบิกความว่า นายป๋องถึงแก่ความตายประมาณปีเศษ จึงอยู่กินเป็นสามีภริยากับนายสันเห็นว่า โจทก์มิได้นำสืบให้รับฟังได้แน่ชัดว่าโจทก์เกิดก่อนที่นายป๋องจะถึงแก่ความตายและนายป๋องถึงแก่ความตายเมื่อใด คงได้ความเพียงว่าหลังจากนายป๋องถึงแก่ความตายประมาณ 1 ถึง 2 ปี นางบุญช่วยจึงอยู่กินฉันสามีภริยากับนายสัน จึงน่าเชื่อตามคำเบิกความของนางบุญช่วยพยานจำเลยว่าขณะนายป๋องถึงแก่ความตายนั้น นางบุญช่วยกำลังตั้งครรภ์โจทก์และคลอดโจทก์ภายหลังจากที่นายป๋องถึงแก่ความตายแล้ว หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 ถึง 2 ปี นางบุญช่วยจึงอยู่กินฉันสามีภริยากับนายสันและจากคำเบิกความของพยานโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ความว่า นางบุญช่วยและนายป๋องอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยเปิดเผยเป็นที่รับรู้ของบุคคลอื่นทั่ว ๆ ไป และมีบุตรด้วยกันก่อนโจทก์แล้วคนหนึ่งซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว นายป๋องถึงแก่ความตายขณะนางบุญช่วยตั้งครรภ์โจทก์ พฤติการณ์ของนายป๋องและนางบุญช่วยที่ปฏิบัติต่อกัน แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า นายป๋องยกย่องนางบุญช่วยเป็นภริยาและยอมรับว่าเด็กที่เกิดจากนางบุญช่วยเป็นบุตรนายป๋อง นางบุญช่วยตั้งครรภ์โจทก์ขณะที่นายป๋องยังไม่ถึงแก่ความตายและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นให้เห็นว่านายป๋องปฏิเสธหรือไม่ยอมรับว่าเด็กในครรภ์นางบุญช่วยไม่ใช่เป็นบุตรนายป๋อง จึงต้องถือว่านายป๋องได้รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรนายป๋องและต้องถือว่านายป๋องได้รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรนายป๋องตั้งแต่อยู่ในครรภ์นางบุญช่วยแล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายป๋องและเป็นทายาทของนายป๋องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และมาตรา 1604 ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ใช่ทายาทเนื่องจากขณะนายป๋องถึงแก่ความตายโจทก์ยังไม่มีสภาพบุคคลนั้น เห็นว่า มาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สิทธิแก่ทารกในครรภ์มารดาสามารถมีสิทธิต่าง ๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกโจทก์ซึ่งเป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา ขณะนายป๋องถึงแก่ความตายและต่อมาคลอดแล้วรอดอยู่ จึงได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติมาตรา 1627เช่นเดียวกันกับเด็กที่คลอดจากครรภ์มารดาแล้วด้วย เหตุผลตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น และปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า นายป๋องยกที่ดินพิพาทให้แก่นางบุญช่วยตั้งแต่ขณะที่นายป๋องยังมีชีวิตอยู่หรือไม่เห็นว่าข้ออ้างดังกล่าวคงมีเพียงคำเบิกความกล่าวอ้างเพียงลอย ๆ ของนางบุญช่วยเท่านั้น จำเลยที่ 1 มิได้แสดงพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนให้น่าเชื่อถือเห็นจริง เมื่อพิจารณาถึงว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่นางเชยยกให้นายป๋องผู้เป็นหลานก่อนที่นายป๋องจะอยู่กินฉันสามีภริยากับนางบุญช่วย จึงเป็นทรัพย์ที่นายป๋องได้มาแต่ฝ่ายเดียวและได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นที่อยู่อาศัยและทำประโยชน์โดยอาศัยอยู่ร่วมกันจึงไม่มีเหตุผลที่นายป๋องจะยกที่ดินพิพาทให้แก่นางบุญช่วยทั้ง ๆ ที่นายป๋องยังมีชีวิตอยู่อันเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัย และนางบุญช่วยก็ไม่เคยกล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริงนี้มาก่อน แม้ในขณะที่นางบุญช่วยไปให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทก็ระบุแต่เพียงว่าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายป๋อง มิได้แจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของนางบุญช่วยโดยนายป๋องยกให้ ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับระบุว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายสันบิดาจำเลยที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์เมื่อบิดาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย นางบุญช่วยมารดาจำเลยที่ 1จึงยกให้จำเลยที่ 1 แต่ต่อมาภายหลังได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินใหม่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายป๋องได้รับการยกให้จากนางเชยพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงขัดแย้งกันเองเป็นพิรุธและไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่านายป๋องยกที่ดินให้แก่นางบุญช่วยดังอ้าง เมื่อนายป๋องถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของนายป๋องที่จะตกทอดไปยังทายาทของนายป๋องตามกฎหมาย นางบุญช่วยอยู่กินฉันสามีภริยากับนายป๋องโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายป๋อง โจทก์จึงเป็นทายาทของนายป๋องแต่เพียงผู้เดียว ที่ดินพิพาทจึงตกได้แก่โจทก์ ซึ่งยังเป็นเด็กเล็กและอาศัยอยู่กับนางบุญช่วยมารดาดังนั้น จึงต้องถือว่านางบุญช่วยครอบครองดูแลที่ดินพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์มาตลอด แม้ต่อมานางบุญช่วยจะได้นายสันเป็นสามีและรับนายสันเข้ามาอยู่ร่วมกันในที่ดินพิพาทก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านางบุญช่วยและนายสันครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนหรือเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าไม่มีเจตนายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป นางบุญช่วยและนายสันจึงไม่เกิดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและยังต้องถือว่าบุคคลทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์มาตลอด เมื่อนางบุญช่วยโอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีไปกว่านางบุญช่วยผู้ครอบครองที่ดินแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนเท่านั้น ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประการสุดท้ายที่ว่า โจทก์ฟ้องเอาที่ดินพิพาทคืนภายใน 1 ปีหรือไม่ นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยเป็นเจ้าของและผู้มีสิทธิครอบครองประเด็นที่โต้เถียงจึงมีว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 ผู้ใดเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหาได้มีประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีสิทธิครอบครองรวมอยู่ด้วยไม่จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในปัญหาดังกล่าวและกรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเหตุผลอื่น ๆ ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ยกขึ้นอ้างในฎีกาอีก เพราะเป็นเพียงเหตุผลสนับสนุนประกอบข้อโต้เถียงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และไม่ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานของโจทก์มีเหตุผลและมีน้ำหนักรับฟังเชื่อถือได้มากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของและผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน