คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8524/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ลงโทษจำคุก 25 ปีศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 7 ปีจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้จากความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์คือขณะกระทำผิดจำเลยมีมีดเป็นอาวุธเป็นความผิดฐานเดิมโดยไม่ประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์คือขณะกระทำผิดจำเลยไม่มีอาวุธทั้งความผิดทั้งสองวรรคต่างก็เป็นความผิดอันยอมความกันไม่ได้จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี คดีต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง, วรรคสาม

จำเลยให้การรับว่ากระทำชำเราผู้เสียหายจริง แต่มิได้ใช้อาวุธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสาม ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพบางส่วนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่มาก นับเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงลงโทษจำคุก 25 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 14 ปี คำรับของจำเลยในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีมีดเป็นอาวุธหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงและคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสาม ลงโทษจำคุก 25 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสองลงโทษจำคุก 7 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้จากความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์คือขณะกระทำผิดจำเลยมีมีดเป็นอาวุธเป็นความผิดฐานเดิมโดยไม่ประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์คือขณะกระทำผิดจำเลยไม่มีอาวุธ ทั้งความผิดทั้งสองวรรคต่างก็เป็นความผิดอันยอมความกันไม่ได้ จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share