แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
มูลหนี้ตามเช็คทั้งสองสำนวนนี้เป็นมูลหนี้รายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งและศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ไปแล้ว ย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คทั้งสองสำนวนนี้เป็นอันระงับไป โจทก์คงมีแต่สิทธิที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2จะมิได้ถูกฟ้องและยอมความในคดีแพ่งด้วยก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก เพราะมูลหนี้ดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเพียงฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1กระทงละ 40,000 บาท ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 เดือนรวม 5 กระทง เป็นจำเลยที่ 1 ปรับ 200,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก10 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 100,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก5 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลดโทษและรอการลงโทษ และอุทธรณ์ว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป จึงให้จำหน่ายคดีทั้งสองสำนวนออกเสียจากสารบบความ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เช็คทั้ง 5 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย มีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการบริษัทของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชดใช้เงินตามเช็คต่อศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีและโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มีการตกลงประนีประนอมยอมความศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีคำพิพากษาตามยอมก่อนมีคำพิพากษาคดีนี้ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 178/2541 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1770/2541 ของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้เป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คแล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า มูลหนี้ตามเช็คทั้งสองสำนวนนี้เป็นมูลหนี้รายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่ง และศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไปแล้ว ย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คทั้งสองสำนวนนี้เป็นอันระงับไป โจทก์คงมีแต่สิทธิที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ถูกฟ้องและยอมความในคดีแพ่งด้วยก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีกเพราะมูลหนี้ดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทเพียงฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าสิทธิในการดำเนินคดีอาญายังไม่ระงับ เนื่องจากในสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงกันว่าโจทก์จะถอนฟ้องเมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว เห็นว่า การถอนฟ้องเป็นเพียงเหตุหนึ่งที่ทำให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาระงับไปเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหนี้ที่ออกเช็คได้สิ้นผลผูกพันไปแล้วโดยการประนีประนอมยอมความก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน