แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ให้นายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาลสมุหบัญชีต้องร่วมรับผิดชดใช้เงินคืนให้แก่เทศบาลในกรณีมีการทุจริตอันเกี่ยวกับการรักษาเงินขึ้นนั้นไม่ใช่กฎหมายจะยกเอาระเบียบดังกล่าวนี้ขึ้นวินิจฉัยว่าบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้รับผิดชดใช้เงินแทนในทันทีขณะทราบว่ามีการทุจริตขึ้นโดยมิต้องสอบสวนว่าบุคคลดังกล่าวจะต้องรับผิดจริงหรือไม่เสียก่อนหาได้ไม่
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรีเมืองยะลาจำเลยที่ 2 รักษาการในตำแหน่งสมุหบัญชี จำเลยที่ 3 รักษาการในตำแหน่งปลัดเทศบาล จำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในงานทั่วไปของเทศบาลตามระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นและตามระเบียบแบบแผน กฎข้อบังคับเกี่ยวกับการเงินตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยข้อ 21 มีความว่า “บรรดาเงินรายได้หรือเงินรายอื่นใดของเทศบาลทุกหน่วยงาน ให้นายกเทศมนตรี ปลัดเทศบาลหรือผู้รักษาการแทนสมุหบัญชีหรือผู้รักษาการแทน เป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันในการเก็บรักษาเงินดังกล่าวนี้ หากปรากฏมีการทุจริตใด ๆ อันเกี่ยวกับการรักษาเงินดังกล่าวนี้ขึ้น ให้บุคคลดังกล่าวนี้ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินคืนให้แก่เทศบาลจนครบ” และจำเลยที่ 1มีหน้าที่ควบคุมรับผิดชอบในการบริหารเทศบาลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แต่จำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ยักยอกเงินเทศบาลไป 25,380 บาทซึ่งพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 2 แล้ว ตามสำนวนคดีอาญาดำที่ 567/2499 จำเลยที่ 3 โดยตำแหน่งต้องรับผิดชอบร่วมกันในการรักษาเงินตามระเบียบข้อ 21 นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังเป็นกรรมการรับผิดชอบในการรักษาเงินตามระเบียบการคลังเทศบาลข้อ 27 ว่าต้อง “ตรวจสอบบรรดาหลักฐานการรับจ่ายเงินทั้งหมดเมื่อสิ้นการรับจ่ายในวันหนึ่ง ๆ โดยจะต้องทำการตรวจสอบจำนวนเงินรับจ่ายสอบ-หลักฐานต่าง ๆ ที่ใช้เก็บเงินและใช้จ่ายเงินในวันนั้น ตลอดจนการคำนวณของเจ้าหน้าที่ด้วยว่าคำนวณไว้ถูกต้องเพียงใด เมื่อถูกต้องตรงกันแล้ว ให้กรรมการรักษาเงินทุก ๆ คนลงนามรับรองไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้ต้องร่วมกันรับผิดชอบตามความในข้อ 21 อีกทางหนึ่งด้วย” จำเลยที่ 3 ลงชื่อรับรองในบัญชีคุมยอดเงินคงเหลือแผนกคลังว่าเป็ฯการถูกต้องไว้ด้วยการปฏิบัติงานของจำเลยทั้ง 3 ทำให้เทศบาลเสียหาย จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้เงิน 25,380 บาท ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้รู้เห็นและร่วมรับเงินกับจำเลยที่ 2 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ จึงไม่ต้องรับผิดตามระเบียบข้อ 21 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า ไม่ได้ยักยอกเงินดังฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
วันนัดชี้สองสถาน โจทก์จำเลยที่ 1, 2 แถลงรับว่าจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องคดีอาญาหาว่ายักยอก ให้รอฟังผลก่อน ต่อมาคดีอาญาดังกล่าวศาลพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 2 ปี กับให้คืนหรือใช้เงิน 25,380 บาทแก่เทศบาล คดีถึงที่สุดแล้ว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ศาลพิพากษาจำคุกและให้คืนและใช้เงินแล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 2 อีกเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 สำหรับจำเลยอื่นไม่เป็นฟ้องซ้ำ แต่จำเลยที่ 1 ยกอายุความ 1 ปี ขึ้นต่อสู้ไว้ ฟังได้ว่านายอำนวยผู้ตรวจการเทศบาลตรวจพบว่าเงิน 25,380 บาทจ่ายซ้ำถึง 2 หน จึงรายงานให้นายประสิทธิ์นายกเทศมนตรีทราบเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2499 นับถึงวันฟ้อง คือ 31 กรกฎาคม 2500 เกิน 1 ปี ขาดอายุความแล้ว เพราะโจทก์ไม่นำสืบให้ปรากฏว่าเพิ่งทราบตัวบุคคลผู้จะต้องรับผิดภายหลัง และฟ้องภายในกำหนด 1 ปี จำเลยที่ 3 ไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ แต่ก็ได้รับประโยชน์จากอายุความด้วย เพราะอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมและจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 ไม่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 1 และ 3 ว่า คดียังไม่ขาดอายุความแม้จะฟังว่าขาดก็จะยกฟ้องถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไม่ได้
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ทราบว่ามีการกระทำผิด 24 กรกฎาคม 2499โจทก์ก็ต้องรู้ตัวผู้จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วในทันทีตามระเบียบการเงินข้อ 21 และระเบียบการคลังข้อ 27 ซึ่งระบุตัวผู้ต้องรับผิดไว้แล้ว ไม่จำต้องสอบสวนอะไรอีก คดีจึงขาดอายุความแล้ว ทั้งโจทก์ก็ไม่นำสืบว่าคดียังไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใด จะให้ศาลสันนิษฐานเอาเองว่าระยะที่เกิน 1 ปี เป็นระหว่างดำเนินการเพื่อให้รู้ตัวผู้จะต้องรับผิดก็ไม่ได้ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาเช่นเดียวกับชั้นอุทธรณ์
ศาลฎีกาเห็นว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ข้อ 21 และระเบียบการคลังข้อ 27 เป็นระเบียบที่มีขึ้นเป็นการภายในของกระทรวงมหาดไทยและเทศบาลเองไม่ใช่กฎหมาย หากระเบียบดังกล่าวนี้ออกเพื่อใช้บังคับให้ผู้ที่มิได้กระทำผิดหรือตามกฎหมายผู้นั้นไม่ต้องรับผิดให้จำเลยต้องรับผิดแล้ว ก็จะนำเอาระเบียบนั้นมาปรับกับรูปคดีหาได้ไม่ จึงต้องวินิจฉัยชี้ขาดไปตามที่มีบทกฎหมายบังคับไว้สำหรับการนั้น ๆ การที่ศาลอุทธรณ์ยกเอาระเบียบดังกล่าวมาวินิจฉัยว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะต้องรับผิดแล้ว โดยมิได้ถือเอาผลของการสอบสวนที่ว่า ความจริงหรือข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ได้รู้เรื่องการกระทำผิดและรู้ตัวผู้ที่พึงจะต้องรับผิดจริง ๆ เมื่อไรขึ้นมาวินิจฉัยชี้ขาดนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ในเรื่องการนำสืบว่าคดีขาดอายุความหรือไม่นั้น จำเลยเป็นฝ่ายที่กล่าวอ้างขึ้นแต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบถึงข้อว่าคดีโจทก์ขาดอายุความไว้เลย ส่วนโจทก์นั้นมีพยานนำสืบฟังได้ว่าวันที่ 24 กรกฎาคม 2499 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รู้ว่ามีการกระทำผิดนั้น เพราะนายอำนวยบันทึกรายงานให้ทราบว่า “ขอให้ (นายกเทศมนตรี) พิจารณาดำเนินการเพื่อทราบข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ว่าเป็นประการใด” อันเห็นได้ชัดว่าในวันที่ 24 กรกฎาคม ซึ่งโจทก์รู้ว่ามีการกระทำผิดนั้น โจทก์ยังไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด เพราะต่อมาอีก 2 วัน นายประสิทธิ์นายกเทศมนตรีจึงได้ตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนหาตัวผู้จะต้องรับผิดในเงินรายนี้ขึ้น จากนั้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2499 นายประสิทธิ์จึงสั่งพักหน้าที่การงานจำเลยที่ 2 ผู้เดียว แล้วส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนคดีอาญาแก่จำเลยที่ 2 ศาลฎีกาจึงเห็นได้ว่าตามหลักฐานและพฤติการณ์ต่าง ๆ ตามสำนวนก็ฟังได้ว่า ภายในระยะเวลา 7 วันที่เกิน 1 ปีไปนั้น กว่าจะได้ตั้งกรรมการสอบสวนขึ้นและจนกว่ากรรมการสอบสวนจะสอบสวนเสร็จและรู้ตัวผู้ที่พึงจะต้องรับผิด ก็เห็นว่าเวลาเพียง 7 วัน ไม่พอจะรู้ตัวผู้ที่พึงจะต้องรับผิดได้เลย คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
อนึ่ง คดีนี้ประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 และ 3 ประมาทเลินเล่อจะต้องรับผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัย ซึ่งสมควรจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงนี้ต่อไป จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลทั้งสองเสีย ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ