คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8743/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยปัญญาอ่อนถึงขนาดไม่อาจรู้ได้ว่าการตัดต้นไม้หวงห้ามเป็นผิดกฎหมาย กรณีจึงมิใช่จำเลยกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคหนึ่งเท่านั้น แต่ถึงขั้นที่ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมิได้รู้สำนึกในการที่กระทำทั้งมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนาตามมาตรา 59

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 11, 47, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91 ริบของกลาง และจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 69(1) วรรคสอง, 73(1)วรรคสอง, 74 ทวิ และ 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91เมื่อได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรมสุขภาพ นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม ทั้งสภาพของความผิดและรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดร้อยเอ็ดแล้ว ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 16 ปีเศษลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ให้ลงโทษฐานทำไม้ยาง จำคุก 6 เดือน และปรับ 2,500 บาท ฐานมีไม้ยางอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,500 บาทฐานแปรรูปไม้ยาง จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,500 บาท ฐานมีไม้ยางแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,500 บาท รวมจำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับตามคำพิพากษาหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้ควบคุมตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่นมีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่องหรือไม่ เห็นว่า ตามพฤติการณ์ของจำเลย ศาลไม่เพียงแต่ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องหรือไม่เท่านั้น แต่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่า จำเลยกระทำโดยเจตนาซึ่งได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดในทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 หรือไม่อีกด้วย เพราะจำเลยปฏิเสธตลอดมาว่า จำเลยมีความพิการทางสมองไม่อาจรู้ได้ว่าการกระทำของตนเป็นความผิด ดังปรากฏจากรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดร้อยเอ็ด ระบุว่า จำเลยมีสุขภาพทางด้านร่างกายที่แข็งแรง แต่มีความจำด้านสมองเลอะเลือน จำความไม่ค่อยได้ไม่สามารถที่จะจำและลำดับเหตุการณ์ใด ๆ ได้ จำเลยเคยประสบอุบัติเหตุเมื่ออายุได้ 3 ขวบ โดยถูกรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชน ทำให้มีรอยเขียวช้ำตามร่างกายหลายแห่ง ต้องนอนโรงพยาบาล 1 คืน เมื่อจำเลยโตขึ้นก็มีความผิดปกติทางด้านสมองจนปัจจุบันนี้ บิดามารดาต้องดูแลอยู่ตลอดเวลาซึ่งเจือสมกับสำเนาทะเบียนนักเรียนโรงเรียนเมืองหนองพอก เอกสารหมายล.1 ที่ระบุไว้ในหมายเหตุว่า “มีปัญหาทางสมอง” และใบแสดงความเห็นของแพทย์ เอกสารหมาย ล.2 ที่ยืนยันว่า จำเลยปัญญาอ่อน ไอคิวเท่ากับ 77ควรได้รับการอบรมฝึกฝนเป็นพิเศษ นอกจากนี้แพทย์หญิงมานิดา สิงหัษฐิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์ ซึ่งตรวจร่างกายจำเลยและลงความเห็นในเอกสารดังกล่าวรวมทั้งเอกสารหมาย ป.ล.1 ด้านหน้าได้เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า จากการตรวจสุขภาพจิตของจำเลยพบว่าพูดไม่ชัด ตอบช้าไม่รู้ซ้ายขวา จากการตรวจขั้นต้น พบว่าปัญญาอ่อน หากไม่ได้รับการฝึกฝนการจะรับรู้ว่าสิ่งใดถูกหรือผิดจะรับรู้ได้น้อยกว่าคนปกติ การสำนึกว่าผิดหรือถูกนั้น ถ้าเป็นสิ่งใกล้ตัวอาจจะรับรู้ได้ เช่น ทำของแตก หรือทำร้ายร่างกายซึ่งถ้าไม่มีใครบอกว่าสิ่งนั้นผิด คนที่มีระดับไอคิวดังกล่าวอาจจะไม่รับรู้ว่าสิ่งดังกล่าวนั้นถ้าทำลงไปแล้วจะผิด และพยานได้ตอบคำถามค้านของผู้แทนโจทก์ด้วยว่า คนระดับไอคิว 77 เมื่อเทียบกับคนปกติทั่วไปจะอยู่ในระดับเด็กอายุตั้งแต่ 5 ขวบ ถึง 10 ขวบ ในกรณีจำเลยตัดต้นไม้จำเลยจะรับรู้ว่ากำลังตัดต้นไม้อยู่ แต่หากไม่มีใครบอกว่าการที่ตัดต้นไม้นั้นผิดกฎหมาย จำเลยก็ไม่อาจรู้ได้ จึงสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยซึ่งจำเลยบอกได้แต่ชื่อ นามสกุล ส่วนบ้านเลขที่ อายุ หมู่บ้าน จำเลยบอกว่าไม่รู้ ไม่ทราบ เมื่อที่ปรึกษากฎหมายถามจำเลยว่า ถูกจับเรื่องอะไรและเคยถูกขังหรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่รู้ แม้ศาลช่วยถามจำเลย แต่ก็ไม่ได้ใจความ จำเลยบอกเพียงว่าไม่รู้ ไม่ทราบเท่านั้น เหตุนี้แม้โจทก์มีร้อยตำรวจโทบุญช่วย บุญวิเศษ และนายดาบตำรวจอานุภาพ ผ่าภูธร เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับจำเลยเบิกความเป็นประจักษ์พยานโจทก์ว่า เห็นจำเลยใช้น้ำมันหล่อลื่นหยอดโซ่เลื่อยยนต์ของนายวิเศษ และกำลังปัดกวาดขี้เลื่อยอยู่ทั้งอ้างว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมายจ.1 ก็ตาม เมื่อจำเลยเป็นบุคคลปัญญาอ่อนที่ถึงขนาดไม่อาจรู้ได้ว่าการตัดต้นไม้นั้นเป็นผิดกฎหมาย กรณีจึงมิใช่จำเลยกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง เท่านั้นแต่ถึงขั้นที่ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมิได้รู้สำนึกในการที่กระทำ ทั้งมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิด เพราะขาดเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิด แต่ให้รอการลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ของกลางให้ริบ

Share