คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7819/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 3 มาด้วยกันและนำเมทแอมเฟตามีนมาด้วย แม้จะมิได้ร่วมเจรจาในการซื้อขายกับสายลับและผู้ซื้อ แต่จำเลยที่ 3ได้รู้เห็นและมีเจตนาร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และส่งมอบเมทแอมเฟตามีนอันเป็นส่วนหนึ่งในการติดต่อเจรจาเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ล่อซื้อ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดเข้าลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83เมื่อจำเลยที่ 3 ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนแก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ตรวจสอบดูก่อน มิใช่เป็นการส่งมอบสิ่งของอันเนื่องมาจากการตกลงซื้อขายเมทแอมเฟตามีนเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจและจำเลยทั้งสามยังมิได้กำหนดจำนวนและราคาที่จะตกลงซื้อขายกันเป็นที่แน่นอนการซื้อขายจึงยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ จึงมีความผิดเพียงพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 10,000 เม็ด น้ำหนัก 837.930 กรัมคำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 180.733 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา600,000 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสอง), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุกจำเลยทั้งสามคนละตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปีจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน (ที่ถูกรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน) ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 33 ปี4 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสอง), 66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 80 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 10กุมภาพันธ์ 2541 เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยทั้งสามกับยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10,000 เม็ด น้ำหนัก 837.930 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้180.733 กรัม ไว้เป็นของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทพงศ์ฤทธิ์บุญเลี้ยง ร้อยตำรวจเอกวิโรจน์ เกษมโกสินทร์ และนายดาบตำรวจนิพนธ์วันทากรสกุล ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสามเบิกความเป็นพยานว่าจำเลยที่ 1กับพวกจะจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10,000 เม็ด ในราคา 600,000บาท พันตำรวจโทพงศ์ฤทธิ์ให้สายลับไปติดต่อนัดวันเวลาและสถานที่เพื่อล่อซื้อ จำเลยที่ 1 กับพวกนัดพบกันที่ร้านดันกิ้น โดนัท ในห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต พันตำรวจโทพงศ์ฤทธิ์ ได้วางแผนจับกุมโดยมอบหมายให้ร้อยตำรวจเอกวิโรจน์ปลอมตัวเป็นผู้ซื้อไปกับสายลับ ร้อยตำรวจเอกวิโรจน์กับสายลับเข้าไปเจรจากับจำเลยที่ 1 โดยพันตำรวจโทพงศ์ฤทธิ์และนายดาบตำรวจนิพนธ์ต่างเห็นเหตุการณ์ขณะเข้าไปเจรจา จำเลยที่ 1พาร้อยตำรวจเอกวิโรจน์ไปที่บริเวณลานจอดรถของห้างฯ ดังกล่าวพบจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร้อยตำรวจเอกวิโรจน์ถามจำเลยทั้งสามว่าเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่ไหน จำเลยที่ 2 จึงสั่งให้จำเลยที่ 3 ส่งถุงกระดาษให้ร้อยตำรวจเอกวิโรจน์เมื่อร้อยตำรวจเอกวิโรจน์ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนจึงส่งสัญญาณให้พันตำรวจโทพงศ์ฤทธิ์กับพวกเข้าจับกุม ชั้นจับกุมจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมในทันทีที่จำเลยที่ 3ส่งมอบและพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ในถุงกระดาษ พยานโจทก์ทั้งสามปากไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 3 มาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความให้เป็นผลร้ายหรือปรักปรำจำเลยที่ 3พยานโจทก์เห็นจำเลยที่ 3 ขณะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางและเมื่อถูกจับกุมจำเลยที่ 3 ได้เขียนข้อความในเอกสารหมาย จ.3 ด้วยลายมือตนเองระบุว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ได้มากับจำเลยที่ 1 และมาพบกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ได้นำถุงกระดาษมาด้วยและได้ส่งถุงกระดาษให้ชายคนหนึ่งไปแล้วก็มีเจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมจำเลยทั้งสามซึ่งข้อความในเอกสารหมาย จ.3 เจ้าพนักงานตำรวจมิได้บอกให้จำเลยที่ 3เขียนตามคำบอก แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 เขียนไปตามความจริงแม้จำเลยที่ 3 จะนำสืบว่าเจ้าพนักงานตำรวจบอกว่า “ให้เขียนไปเถอะแล้วจะปล่อยตัวไป” ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ข้อความที่จำเลยที่ 3 จะเขียนเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในคดีจึงจะมีการปล่อยตัวจำเลยที่ 3 ไป เมื่อจำเลยที่ 3 ยอมรับว่าเป็นผู้ส่งเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อตรวจดูการกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองแล้ว เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 180.733 กรัม อันมีปริมาณตั้งแต่20 กรัม ขึ้นไปถือได้ว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง และในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 3 มาด้วยกันจากบ้านและนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาด้วย แม้จำเลยที่ 3 จะมิได้ร่วมเจรจาในการซื้อขายกับสายลับและผู้ซื้อก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้รู้เห็นและมีเจตนาร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และได้กระทำการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางอันเป็นส่วนหนึ่งในการติดต่อเจรจาเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ล่อซื้อ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดเข้าลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 3ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ตรวจสอบดูก่อน อันเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาตกลงซื้อขาย หาใช่เป็นการส่งมอบสิ่งของอันเนื่องมาจากการตกลงซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางเสร็จสิ้นแล้วแต่อย่างใดไม่ ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจและจำเลยทั้งสามก็ยังมิได้กำหนดจำนวนและราคาของเมทแอมเฟตามีนที่จะตกลงซื้อขายกันเป็นที่แน่นอนการซื้อขายจึงยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ จำเลยที่ 2 คงมีความผิดเพียงพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share