คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6761/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ภรรยาของโจทก์ซึ่งมีชื่อในโฉนดที่ดินได้ร่วมกันขายที่ดินอันเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้กับผู้อื่นภายหลังที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ขอหย่าแบ่งสินสมรส และฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่ง ขอให้โอนที่ดินแปลงพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้มีนิติกรรมผูกพันที่จะต้องขายมาก่อน มิใช่เป็นการขายไปในลักษณะปกติแม้คดีแพ่งจะยังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ตาม ก็ถือว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยทั้งสองแล้ว เข้าองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 29344 ตำบลตลาดขวัญ(บางแพรก) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี โดยให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องชายจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ขอหย่าและแบ่งสินสมรสหลายรายการรวมทั้งที่ดินแปลงดังกล่าว ในระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็น 5 แปลง รวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 157146ตำบลตลาดขวัญ (บางแพรก) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ให้โอนที่ดินทั้ง 5 แปลง ให้โจทก์ครึ่งหนึ่งแต่เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2530 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามโดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินคืนให้โจทก์จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 157146 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 3 ในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้รับชำระหนี้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83นับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4620/2530,4621/2530 และ 4623/2530 ของศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1และที่ 2 ให้ประทับฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83 จำคุก 1 ปี และปรับ4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในกรณีแรกว่า ในคดีที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2ขอให้โอนที่ดินตามฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1198/2530 และในกรณีหลัง ในคดีที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ขอหย่าและแบ่งสินสมรสต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2538 ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 29344 เป็นสินสมรส ตามคดีหมายเลขแดงที่ 4852/2538ซึ่งในระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 157146ที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 29344 ไปเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2530ก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาในคดีฟ้องหย่า ซึ่งในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองคดีดังกล่าวข้างต้นนั้น จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะมายื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ เพราะผู้กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้จะต้องมีเจตนาพิเศษเนื่องจากในการพิจารณาคดีแพ่งทั้งสองในศาลชั้นต้นนั้นคดียังมีประเด็นโต้เถียงเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในการพิจารณาคดีแพ่งทั้งสองคดีดังกล่าวนั้นมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 29344 เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 2 หรือไม่ หรือเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งการวินิจฉัยในคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ศาลต้องวินิจฉัยในปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์อันเป็นประเด็นเดียวกับในคดีแพ่งด้วยเช่นกัน การพิจารณาคดีอาญาไม่จำต้องรอคำวินิจฉัยทางแพ่งของศาลฎีกาเสมอไป เมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบในคดีอาญารับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขายที่ดินสินสมรสของโจทก์โฉนดเลขที่ 157146 ไปในระหว่างการพิจารณาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นความสำคัญอยู่ตรงที่ว่าจำเลยทั้งสองขายที่ดินไปโดยมีเจตนาเพื่อว่าเมื่อโจทก์ชนะคดีแพ่งแล้ว โจทก์อาจไม่สามารถบังคับชำระหนี้เรียกที่ดินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายไปจากผู้ซื้อที่รับโอนโดยสุจริตได้ อันเป็นเจตนาพิเศษ ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 157146 อันเป็นสินสมรสของโจทก์ให้ผู้อื่นภายหลังที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งโดยที่มิได้มีนิติกรรมผูกพันที่จะต้องขายกันมาก่อน จึงมิใช่การขายไปในลักษณะปกติ แม้คดีแพ่งจะยังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ตาม ถือว่าโจทก์อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วจึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 คำพิพากษาฎีกาที่ 1675/2532 นั้นเป็นกรณีที่จำเลยขายทรัพย์จำนองเพื่อชำระหนี้จำนองตามปกติ ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า จำเลยที่ 2มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้ออื่นไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไม่เป็นสาระแก่คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัย…”

พิพากษายืน

Share