คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1190/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีล้มละลาย หนี้จำพวกที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้วก่อนวันประชุมเจ้าหนี้นั้น เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมได้ และเมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ที่มาประชุมคัดค้านการออกเสียงของเจ้าหนี้รายนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ต้องสั่งบั่นทอนในการออกเสียงของเจ้าหนี้นั้น และถือว่าเป็นการออกเสียงที่มีผลตามกฎหมายเมื่อจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ฝ่ายที่ลงมติฝ่ายนี้มีมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ต้องถือว่ามติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจำนวนหนี้ข้างมากนี้เป็นมติของที่ประชุมด้วย
คดีที่ศาลฎีกาพิพากษาย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปในฐานะที่โจทก์มีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้นั้น ไม่ใช่เป็นคำพิพากษาบังคับให้โจทก์จำต้องดำเนินคดีอย่างใด

ย่อยาว

หลังจากจำเลยถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลว่าจำเลยได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกร้องทุนทรัพย์ 1,230,800 บาทศาลอนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถา เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประชุมเจ้าหนี้เจ้าหนี้ลงมติไม่ยอมนำเงินมาวางศาลจึงสั่งจำหน่ายคดี ศาลฎีกาพิพากษาให้ดำเนินคดีต่อไป ศาลแพ่งจึงดำเนินคดีใหม่โดยให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาวาง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาอีก ศาลสั่งให้เอาคดีขึ้นพิจารณาและให้อายัดเงิน 20,000 บาทที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาจำเลยยื่นคำแถลงว่า ในคดีที่จำเลยเป็นโจทก์นั้น ศาลฎีกาให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาต่อไปได้ ศาลแพ่งกลับไต่สวนอนาถาใหม่และสั่งอายัดเงินนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ควรคัดค้านและเมื่อศาลสั่งอายัดแล้วกลับไปตามใจเจ้าหนี้ฝ่าฝืนคำสั่งศาลเสียอีก

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้าน

ศาลแพ่งมีคำสั่งว่า หนี้รายนายสกลไม่ถูกต้องนั้น จำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าหนี้รายนี้ไม่ชอบด้วยมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายอย่างไร คำคัดค้านของจำเลยจึงไม่มีเหตุให้รับฟังส่วนหนี้รายนางหนูช้อยเป็นหนี้ส่วนน้อย จึงให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาได้พิจารณาพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 34 วรรคแรกมาตรา 35 และมาตรา 36 แล้ว เห็นว่า สำหรับหนี้รายนายสกล ทิมกระจ่างเงิน 197,000 บาท ซึ่งจำเลยคัดค้านนั้น ลักษณะของหนี้แสดงว่าเป็นหนี้จำพวกที่อาจขอรับชำระหนี้และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้วก่อนวันประชุมเจ้าหนี้ ฉะนั้น เจ้าหนี้รายนี้จึงเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมได้ตามมาตรา 34 และไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ที่มาประชุมได้คัดค้านการออกเสียงของเจ้าหนี้รายนี้ฉะนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ต้องสั่งบั่นทอนในการออกเสียงของเจ้าหนี้คนนี้ตามความในมาตรา 35 การออกเสียงของเจ้าหนี้ผู้นี้ก็เป็นการออกเสียงที่มีผลตามกฎหมาย และเมื่อการออกเสียงรายนี้มีผลตามกฎหมายแล้ว จำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ฝ่ายที่ลงมติฝ่ายนี้ก็มีมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง กฎหมายถือว่ามติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจำนวนหนี้ข้างมากเป็นมติของที่ประชุม อนึ่ง เรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้รายนี้ก็เป็นเรื่องที่เสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ตามกฎหมาย ตามมาตรา 36 ซึ่งบัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้นั้น ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าถ้าไม่มีคำสั่งศาลห้ามมิให้ปฏิบัติตามมตินั้นแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามมตินั้น เพราะถ้าไม่ต้องปฏิบัติตามมตินั้นแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องบัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้ศาลสั่งห้ามฉะนั้น กรณีเรื่องนี้ไม่มีทางที่จำเลยจะขอให้ศาลสั่งเป็นอย่างอื่นผิดไปจากมติที่ประชุมเจ้าหนี้ได้

ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่า การถอนฟ้องคดีเรื่องนั้นเป็นการฝ่าฝืนคำพิพากษาฎีกาในคดีเรื่องนั้น พิจารณาแล้วปรากฏว่า ภายหลังที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้าดำเนินคดีแทนโจทก์ในคดีนั้นแล้วศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่ดำเนินคดีตามที่ศาลสั่ง เป็นการทิ้งฟ้องจึงจำหน่ายคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ดำเนินคดีต่อไปใหม่ จำเลยในคดีนั้นฎีกาศาลฎีกาพิพากษายืน ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีเรื่องนั้นเป็นกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปในฐานะที่โจทก์มีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ ไม่ใช่เป็นคำพิพากษาบังคับให้โจทก์จำต้องดำเนินคดี อนึ่ง ตามกฎหมายนั้นผู้ที่มีฐานะเป็นโจทก์ย่อมมีสิทธิดำเนินคดีจนถึงที่สุด หรือจะถอนฟ้องเสียก็ได้ ศาลจะไปสั่งตัดสิทธิถอนฟ้องของโจทก์มิได้และคดีเรื่องนั้น ศาลฎีกาก็มิได้สั่งตัดสิทธิถอนฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด ฉะนั้น การถอนฟ้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งมีอำนาจเข้าไปดำเนินคดีในฐานแทนโจทก์ในคดีนั้น จึงไม่เป็นการขัดต่อคำพิพากษาในคดีนั้นแต่อย่างใดเลย

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย

Share