แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เอกสารที่จำเลยนำมาแสดงอ้างว่าตนเป็นโรคประสาทเคยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีธัญญานั้น เป็นเพียงบัตรประจำตัวคนไข้ จำเลยมิได้นำแพทย์ผู้ตรวจรักษามายืนยันว่าตนป่วยเป็นโรคประสาทจนถึงขนาดกระทำการโดยไม่รู้สึกตัวทั้งในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยว่าพยายามฆ่า จำเลยให้การปฏิเสธซึ่งจำเลยเข้าใจคำถามและตอบคำถามได้เหมือนคนปกติส่วนที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาบาดแผลของจำเลยระบุว่าจำเลยมีอาการเบลอ ๆ ไม่ค่อยได้สตินั้นอาจเกิดจากการที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนมาก่อนเกิดเหตุจนมีอาการมึนเมาก็เป็นได้ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าขณะจำเลยกระทำความผิด จำเลยมีอาการทางจิตประสาทไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้อาวุธปืนปลายแหลมแทงประทุษร้ายนางสุนิสาหรือสุณิสา ขวัญคำ ผู้เสียหายหลายครั้งโดยเจตนาฆ่าถูกร่างกายผู้เสียหายหลายแห่ง จำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายดิ้นรนขัดขืนร้องขอความช่วยเหลือ มีผู้เข้าช่วยเหลือได้ทันและแพทย์รักษาได้ทันท่วงที ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาจำเลยแต่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสโดยทุพพลภาพ ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน และจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน เหตุเกิดที่ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เจ้าพนักงานยึดอาวุธมีดดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80, 33 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ลงโทษจำคุก 10 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี 8 เดือนริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุจำเลยได้ใช้อาวุธมีดปลายแหลมแทงทำร้ายนางสุนิสาหรือสุณิสา ขวัญคำ ผู้เสียหายบริเวณด้านหลังต้นคอและมือขวาหลายแห่งเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสอันเป็นการพยายามฆ่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าขณะจำเลยทำร้ายผู้เสียหายนั้นจำเลยกระทำโดยในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน อันจะเป็นเหตุให้ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 หรือไม่ นางสุนิสาหรือสุณิสา ขวัญคำ ผู้เสียหายซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยพยานโจทก์เบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ13 นาฬิกา จำเลยซึ่งไม่มีงานทำ นั่งดื่มสุราอยู่ในห้องนอน เวลาประมาณ19 นาฬิกา จำเลยบอกให้ผู้เสียหายพาบุตรออกไปนอกห้อง ผู้เสียหายเข้าใจว่าจำเลยจะเสพเมทแอมเฟตามีนไม่ต้องการให้บุตรเห็น ผู้เสียหายกลับเข้ามานอนเวลาประมาณ 20 นาฬิกา และเกิดเหตุเวลาประมาณ 3 นาฬิกาสาเหตุที่จำเลยแทงทำร้ายผู้เสียหายเพราะจำเลยระแวงว่าผู้เสียหายจะหนีไปอยู่กับชายอื่นและเมาเมทแอมเฟตามีน ส่วนจำเลยนำสืบอ้างว่าเป็นโรคประสาทเคยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีธัญญาตามเอกสารหมายล.1 เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ล.1 เป็นเพียงบัตรประจำตัวคนไข้ จำเลยไม่ได้นำแพทย์ผู้ตรวจรักษามายืนยันว่าจำเลยป่วยเป็นโรคประสาทจนถึงขนาดกระทำการโดยไม่รู้สึกตัว ชั้นสอบสวนพันตำรวจโทวิรัช วาสนวัฒนาจรัสพนักงานสอบสวนซึ่งสอบสวนจำเลยในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 เบิกความยืนยันว่า แจ้งข้อหาจำเลยว่าพยายามฆ่า จำเลยให้การปฏิเสธตามเอกสารหมาย จ.9 จำเลยเข้าใจคำถามและตอบคำถามรู้เรื่องเหมือนคนปกติ ส่วนที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาบาดแผลผู้เสียหายและบาดแผลจำเลยระบุว่าจำเลยกับผู้เสียหายมีอาการเบลอ ๆ ไม่ค่อยได้สตินั้นอาจเกิดจากการที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนมาก่อนเกิดเหตุจนมีอาการมึนเมาก็เป็นได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าขณะจำเลยกระทำความผิดจำเลยมีอาการทางจิตประสาทไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้นและถึงแม้ว่าผู้เสียหายจะเป็นภรรยาจำเลยไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยก็ตาม แต่ความผิดฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 มีโทษขั้นต่ำจำคุก 10 ปี จึงไม่อาจลงโทษให้น้อยกว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดได้อีก ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน