คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6754/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดสองฐานรวมกันมาในข้อเดียวกัน โดยมิได้บรรยายฟ้องให้เห็นชัดเจนว่าการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้จำเลยทั้งสองกระทำโดยมีเจตนาแยกต่างหากจากหรือกระทำผิดสำเร็จเป็นความผิดแต่ละกรรมเป็นกระทงความผิดอย่างไรอีกทั้งโจทก์ยังมีคำขอให้ลงโทษเป็นกรรมเดียวกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มาท้ายคำฟ้องด้วย แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวกัน จึงต้องถือตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หาใช่เป็นความผิดสองกรรมต่างกันไม่
จำเลยทั้งสองกระทำความผิดโดยเป็นตัวการร่วมกันและจำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคล จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเรื่องการกักขังแทนค่าปรับมาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ได้ที่ศาลชั้นต้นให้บังคับชำระค่าปรับแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 ด้วยจึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายทั้งสี่อันเป็นเครื่องหมายการค้าที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และได้ร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งแว่นตากันแดดที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมดังกล่าวข้างต้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 4, 108, 110, 115,117 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 90 และริบของกลางทั้งหมด

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มาตรา 108 และมาตรา 110(1) ประกอบมาตรา 108 เป็นการกระทำสองกรรมต่างกัน ลักษณะและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด มีของกลางจำนวนกว่า 30,000 ชิ้น พร้อมเครื่องมือในการผลิตของที่เป็นความผิด การกระทำดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายได้มาก เนื่องจากถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิต สมควรลงโทษสถานหนัก ให้เรียงกระทงลงโทษฐานปลอมเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 1 ปรับ 400,000บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม จำเลยที่ 1 ปรับ 400,000 บาทจำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี และปรับ 400,000 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 1ปรับ 800,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 4 ปี และปรับ 800,000 บาทจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 400,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก2 ปี และปรับ 400,000 บาท พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และลักษณะของจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 มีบุตรที่จะต้องเลี้ยงดูหลายคนไม่ปรากฏว่าเคยกระทำความผิดมาก่อน การจำคุกไม่เหมาะสมแก่จำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 2ลุแก่โทษให้การรับสารภาพผิดตามฟ้องและยินยอมชดใช้สังคมโดยการทำงานบริการให้ชุมชน เห็นสมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคม โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยที่ 2รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ให้พนักงานคุมประพฤติจัดให้จำเลยที่ 2 ทำกิจกรรมบริการสังคมด้านคนชราหรือผู้ด้อยโอกาสในสังคมเป็นเวลา 100 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56(1)หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ริบของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ปลอมเครื่องหมายการค้า จำเลยทั้งสองเพียงแต่ประมูลกรอบแว่นตาหรือแว่นตาสำเร็จรูปซึ่งเป็นสินค้าตามฟ้องจากต่างประเทศแล้วนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามกฎหมาย และเครื่องมือของกลางเป็นเพียงอุปกรณ์ใช้ซ่อมแซมความชำรุดของสินค้า ไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตนั้นเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิด และของกลางดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้อง แต่คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดและของกลางดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนี้ จำเลยทั้งสองจะอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ให้การรับสารภาพดังกล่าวแล้วหาได้ไม่ ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษในสถานเบาโดยปรับในอัตราขั้นต่ำนั้น เห็นว่า นอกจากจำเลยทั้งสองจะร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายถึง 4 รายแล้ว ยังร่วมกันมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมอีกด้วย โดยเจ้าพนักงานยึดได้สินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมดังกล่าวติดอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 30,000 ชิ้น พร้อมด้วยเครื่องมือที่จำเลยทั้งสองใช้และมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้องอีกหลายรายการเป็นของกลาง พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองนับว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิของผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นอย่างมาก ถือได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง จึงไม่มีเหตุสมควรวางโทษให้เบาลงอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

อย่างไรก็ดีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานปลอมเครื่องหมายการค้าและฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเป็นความผิดสองกรรมนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้รวมกันมาในคำฟ้องข้อ 2 โดยมิได้บรรยายฟ้องให้เห็นชัดเจนว่าการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้จำเลยทั้งสองกระทำโดยมีเจตนาแยกต่างหากจากกันหรือกระทำผิดสำเร็จเป็นความผิดแต่ละกรรมเป็นกระทงความผิดอย่างไร อีกทั้งโจทก์ยังมีคำขอให้ลงโทษเป็นกรรมเดียวกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มาท้ายคำฟ้องด้วยแสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวกัน จึงต้องถือตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หาใช่เป็นความผิดสองกรรมต่างกันไม่ นอกจากนี้คดีนี้จำเลยทั้งสองกระทำความผิดโดยเป็นตัวการร่วมกัน และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเรื่องการกักขังแทนค่าปรับมาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ได้ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้ปรับบทความผิดของจำเลยทั้งสองฐานเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และที่ให้บังคับชำระค่าปรับแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 ด้วย จึงไม่ถูกต้องปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องเองได้”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108 และมาตรา 110(1) ประกอบมาตรา 108 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90แต่เนื่องจากความผิดแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษฐานปลอมเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มาตรา 108 จำเลยที่ 1 ปรับ 400,000 บาท จำเลยที่ 2จำคุก 2 ปี และปรับ 400,000 บาท เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ200,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี และปรับ 200,000 บาทหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share