คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการที่ผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าวบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิทหรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่วทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาได้นั้น เป็นความชำรุดบกพร่องอันไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ เมื่อมีน้ำฝนตกหนักน้ำฝนซึมเข้ามาจึงจะรู้ว่ามีการชำรุดบกพร่องดังกล่าว แม้ตัวแทนโจทก์เข้าไปสำรวจตรวจสอบแล้ว ก็เป็นการตรวจสอบเพียงว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง การที่ตัวแทนโจทก์เสนอให้โจทก์หาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบและโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท อ. เข้าไปตรวจสอบจึงเป็นการกระทำที่สมควร จะถือว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องแล้วแต่เวลานั้นยังไม่ได้ เมื่อต่อมาบริษัท อ. ตรวจสอบเสร็จและเสนอรายการซ่อมให้โจทก์ทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องนับแต่เวลานั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าวคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 256,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังได้ยุติว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2535 โจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทจากจำเลยและได้รับโอนการครอบครองไปเรียบร้อยแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้เข้าอยู่อาศัยต่อมาประมาณกลางปี 2538 โจทก์ประสงค์จะเข้าอยู่อาศัย จึงได้ให้ช่างเข้าไปตกแต่ง ขณะกำลังตกแต่งอยู่นั้น ถึงต้นเดือนกันยายน 2538 เกิดมีฝนตกหนัก น้ำฝนรั่วซึมเข้าไปในห้องชุดพิพาท ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2539 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในข้อแรกว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นเวลาปีหนึ่ง นับแต่เวลาที่พบเห็นความชำรุดบกพร่อง จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 474 หรือไม่ โจทก์มีนายสุริยน สัจจาวณิชย์ ผู้ดูแลผลประโยชน์ ของโจทก์ นายฉัตรบดี จารุสกุล ทนายความโจทก์ซึ่งได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบความเสียหาย และนายสิทธิชัย จิรประเสริฐกุล เบิกความเป็นพยานว่า เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นโจทก์ได้มอบหมายให้นายสุริยนไปทำการตรวจสอบพร้อมกับนายฉัตรบดีเมื่อประมาณเดือนกันยายน 2538 พบว่าพื้นห้องและขอบผนังห้องมีรอยด่างซึ่งเกิดจากน้ำรั่วซึม วอลล์เปเปอร์ฉีกขาดหลุดออก พื้นไม้ปาเก้โป่งนูนขึ้นมา ผนังห้องมีรอยแตก พรมปูพื้นผ้าม่าน เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องปรับอากาศชำรุดเสียหาย ตามภาพถ่ายหมาย จ.3 จึงได้แนะนำโจทก์ให้ติดต่อหาผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบว่าความเสียหายเกิดจากอะไร บริษัทอาคเนย์การช่าง จำกัด ตรวจสอบพบว่าความเสียหายเกิดจากผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าว และบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิทหรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่ว ทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาตามห้องชุดตามรอยร้าวหรือรอยต่อที่ไม่สนิทนั้น จึงเกิดความเสียหายดังกล่าวข้างต้น ตามรายงานการสำรวจตรวจสอบเอกสารหมาย จ.4และได้เสนอค่าซ่อมเป็นเงิน 211,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.4 ฝ่ายจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าข้อนำสืบดังกล่าวไม่เป็นความจริง และรับว่าห้องชุดที่ขายให้แก่โจทก์เป็นห้องโล่ง ยังไม่มีการตกแต่งภายใน ปกติจำเลยจะรับผิดชอบห้องชุดต่อผู้ซื้อภายในกำหนดเวลา 1 ปีเท่านั้น เห็นว่า ความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการที่ผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าวบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิทหรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่ว ทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาได้นั้นเป็นความชำรุดบกพร่องอันไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ เมื่อมีน้ำฝนหนัก น้ำฝนซึมเข้ามาจึงจะรู้ว่ามีการชำรุดบกพร่องดังกล่าว แม้โจทก์จะได้มอบหมายให้นายสุริยนและนายฉัตรบดีซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนโจทก์เข้าไปสำรวจตรวจสอบเมื่อประมาณเดือนกันยายน 2538 ก็เป็นการตรวจสอบเพียงว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง แต่บุคคลทั้งสองไม่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง ทั้งในระหว่างนั้นโจทก์ได้ว่าจ้างให้บุคคลอื่นเข้ามาทำการตกแต่งภายในอยู่ด้วยจึงอาจมีการตอกตะปูใช้สว่านเจาะหรืออื่นใด อันเป็นปกติธรรมดาของการตกแต่ง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดรอยแตกร้าวได้ การที่บุคคลทั้งสองเสนอให้โจทก์ติดต่อหาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบและโจทก์ได้ว่าจ้างให้บริษัทอาคเนย์การช่าง จำกัด ซึ่งมีความรู้เชี่ยวชาญเข้าไปทำการตรวจสอบให้แน่ชัด จึงเป็นการกระทำที่สมควรจะถือว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องแล้วแต่เวลานั้นยังไม่ได้เมื่อต่อมาบริษัทอาคเนย์การช่าง จำกัด ได้ตรวจสอบเสร็จและเสนอรายการซ่อมให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2538 ตามเอกสารหมาย จ.4 จึงถือได้ว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องของห้องชุดพิพาทนับแต่เวลานั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2539 ยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น

มีปัญหาต่อไปตามฎีกาโจทก์ว่า ค่าเสียหายมีเพียงใด โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้ว่าจ้างบริษัทอาคเนย์การช่าง จำกัด ตรวจสอบความเสียหายเป็นเงิน 5,000 บาท ค่าจ้างทนายความ 30,000 บาท และค่าซ่อมแซมอาคารและทรัพย์สินที่เสียหายเป็นเงิน 211,000 บาท ตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.4 ฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบแก้ว่า ไม่เป็นความจริงอย่างไร เห็นว่า ค่าจ้างตรวจสอบสาเหตุแห่งความเสียหายรวมทั้งทรัพย์สินที่เสียหายเป็นเงิน 5,000 บาท และค่าซ่อมแซมเป็นเงิน 211,000 บาท นั้น เป็นผลโดยตรงจากความชำรุดบกพร่องของห้องชุดพิพาท และเป็นจำนวนที่สมควรจำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนค่าจ้างทนายความ 30,000 บาท นั้น แม้จะฟังว่า เป็นความจริงก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ได้กำหนดอัตราค่าทนายความไว้ในตาราง 6 โดยให้ศาลกำหนดค่าทนายความให้แก่ผู้ชนะคดีตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูง โดยให้พิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดีกับเทียบดูเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าความเรื่องนั้น ไม่ประสงค์จะให้คู่ความกำหนดอัตราค่าทนายความกันเองแล้วมาเรียกจากอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งในคดีนี้ศาลก็จะได้กำหนดอัตราค่าทนายความตามบทบัญญัติดังกล่าว ไว้ตอนท้ายของคำพิพากษาอยู่แล้วจึงไม่กำหนดให้โจทก์ อนึ่ง ที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของค่าเสียหายดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องนั้น ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า โจทก์จ่ายเงินค่าตรวจสอบไปเมื่อวันใด ส่วนค่าซ่อมแซมนั้นขณะฟ้องโจทก์ยังไม่ได้ซ่อมโจทก์จึงเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยนับจากวันตามขอไม่ได้ เห็นควรกำหนดให้นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความและพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นค่าจ้างตรวจสอบจำนวน 5,000 บาท และค่าซ่อมแซมอาคารพิพาทจำนวน 211,000 บาทรวมเป็นเงิน 216,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share