แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เข้ารับราชการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2463 แล้วลาออกเมื่อวันที่1 สิงหาคม 2477 โดยได้ไปเป็นผู้ช่วยจัดทำตำราและสอนกฎหมายซึ่งเป็น ลูกจ้างของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2477 นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2477 ถึง พ.ศ.2502โจทก์ได้รับบำนาญจากทางราชการตลอดมา แต่ต่อมาได้คืนบำนาญสำหรับปี พ.ศ.2501 และ 2502 เนื่องจากในวันที่ 1 มกราคม 2500ได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2499 ออกใช้บังคับ และโดยผลของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ นี้ โจทก์ได้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบ ข้าราชการพลเรือนย้อนหลังไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2477 แม้การที่กฎหมาย เปลี่ยนฐานะของโจทก์จากการเป็นลูกจ้างมาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญจะถือไม่ได้ว่าเป็นการกลับเข้ารับราชการใหม่ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2494 เพราะไม่มีการกลับเข้ารับ ราชการใหม่ แต่โดยที่โจทก์เป็นผู้ได้รับบำนาญอยู่ก่อนที่โจทก์จะได้รับการ เปลี่ยนฐานะจากลูกจ้างมาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ เมื่อมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์จะคิดเวลาราชการของโจทก์ทั้งสองครั้งติดต่อกัน เพื่อคำนวณ เงินบำนาญได้หรือไม่ กรณีก็ต้องวินิจฉัยคดีเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 คือเทียบกับมาตรา 30 แห่ง พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2494 ซึ่งตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้าราชการผู้ประสงค์จะให้คิดเวลาราชการทั้งการ รับราชการครั้งเก่าและครั้งใหม่ติดต่อกันสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ จะต้อง บอกเลิกรับบำนาญเสียก่อนภายใน 30 วัน นับแต่วันกลับเข้ารับราชการใหม่ สำหรับกรณีของโจทก์เมื่อไม่มีวันกลับเข้ารับราชการใหม่ ก็ควรจะต้องถือว่าหากโจทก์ประสงค์จะให้คิดเวลาราชการทั้งสองครั้งติดต่อกัน โจทก์ก็ต้องบอกเลิกรับบำนาญเสียภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันประกาศใช้บังคับของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2499 เมื่อโจทก์ มิได้บอกเลิกรับบำนาญภายในกำหนด จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้จำเลยคิดเวลาราชการสำหรับคำนวณบำนาญทั้งเวลาราชการครั้งก่อนและครั้งหลังติดต่อกันได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์เข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการแผนกต่างประเทศ กรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน2463 และได้โอนไปรับราชการกระทรวงเศรษฐการเมือง พ.ศ. 2470 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ที่ถูกคือมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) ยืมตัวโจทก์ไปเป็นผู้ช่วยจัดทำตำราและสอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยนี้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2477 ต่อมาโจทก์ได้ลาออกรับบำนาญจากกระทรวงเศรษฐการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2477 แต่ยังคงเป็นลูกจ้างที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองตลอดมาจนถึงวันที่ 1มกราคม 2500 จึงได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2499 ออกมาใช้บังคับให้ยกฐานะโจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญย้อนหลังไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2477 ซึ่งเป็นวันแรกที่โจทก์ถูกยืมตัวมาเป็นผู้ช่วยจัดทำตำรา ใน พ.ศ. 2502 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้โจทก์ไปทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการ แต่ยังคงรับเงินเดือนในตำแหน่งเดิมอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 29 ธันวาคม 2502 จำเลยมีหนังสือที่ ศก.62802/2502 นำส่งสำเนาหนังสือของจำเลยถึงกระทรวงเศรษฐการที่ 62800/2502 ความว่า การที่โจทก์ได้รับยกฐานะเป็นข้าราชการย้อนหลังนั้น เป็นการกลับเข้ารับราชการใหม่ โจทก์มิได้บอกคืนบำนาญเดิมภายใน30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2500 หากโจทก์จะออกจากราชการ โจทก์ก็หมดสิทธิที่จะให้นับเวลาราชการติดต่อกัน โจทก์ได้บันทึกคัดค้านและสงวนสิทธิไว้แล้ว ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2505 จำเลยขอให้โจทก์คืนเงินบำนาญที่เบิกเกินไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2500 เป็นเงิน 8,970 บาท 87สตางค์ โจทก์ได้คัดค้าน แต่ได้ให้เลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หักเงินบำนาญที่เบิกเงินจากเงินสะสมของโจทก์ โดยถือว่าคืนให้ตามกฎหมายลักษณะลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ครบเกษียณอายุใน พ.ศ. 2505 จำเลยนับวันราชการของโจทก์เป็น 2 ตอน ตอนแรกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2463 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2477 แล้วคิดบำนาญไว้ยอดหนึ่งก่อน ตอนที่สองตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2477 ถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2505 แล้วคิดเงินบำนาญไว้อีกยอดหนึ่ง แล้วนำยอดเงินทั้งสองจำนวนมาบวกกันจ่ายเป็นเงินบำนาญให้โจทก์ซึ่งเป็นการขัดแย้งต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159, 160 การกระทำของจำเลยขัดแย้งต่อมาตรา 2 และ 5 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2499 เพราะโจทก์มิใช่ผู้กลับเข้ารับราชการใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 2500 ขอให้บังคับให้จำเลยรับว่าโจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญย้อนหลังโดยเฉพาะเจาะจง ให้จำเลยนับเวลาราชการเพื่อคำนวณบำนาญของโจทก์ติดต่อกันนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2465 จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2505 ให้จำเลยปฏิบัติตามมาตรา 32 และ 49 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ พ.ศ. 2494
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เมื่อโจทก์ลาออกจากราชการในวันที่ 1 สิงหาคม 2477 โจทก์ได้รับบำนาญจากกระทรวงเศรษฐการเป็นเงินเดือนละ 44 บาท 33 เศษ 1 ส่วน 3 สตางค์ เมื่อปรับอัตราใหม่แล้วเป็นเดือนละ 420 บาท 33 สตางค์ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2499 มาตรา 5 โจทก์มีฐานะเป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2477การเข้ารับราชการของโจทก์ตอนนี้ถือว่าเป็นการกลับเข้ารับราชการใหม่ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2499 โจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้กลับเข้ารับราชการใหม่ตามนัยมาตรา 30 ของพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2499 จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมการจ่ายบำนาญตามนัยมาตรา 30(จ) และมาตรา 35แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญดังกล่าว เมื่อโจทก์ถูกสั่งให้ออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญในวันที่ 30 กันยายน 2505 จำเลยจึงได้คำนวณเวลาราชการตอนหลังเพื่อจ่ายบำนาญแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 30มิถุนายน 2477 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2505 คิดบำนาญเดือนละ 5,220 บาท 33 สตางค์ และเนื่องจากถือว่าโจทก์เข้ารับราชการใหม่โดยได้เงินเดือนสูงกว่าเดิม จำเลยจึงงดบำนาญตามนัยมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญและเรียกบำนาญที่โจทก์รับเกินไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2500 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2501 เป็นเงิน 8,970 บาท 87 สตางค์ คืนการที่โจทก์ขอให้นับเวลาราชการต่อเนื่องกันนั้น โจทก์จะต้องใช้สิทธิตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 30(จ) แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญคือต้องบอกเลิกบำนาญเพื่อขอนับเวลาราชการต่อกับเวลาราชการในตอนหลังภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2500 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2499 ประกาศใช้บังคับ โจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายบังคับไว้ จึงไม่มีสิทธิขอให้นับเวลาราชการสองตอนติดต่อกัน
ชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์แถลงรับว่าโจทก์มิได้บอกเลิกบำนาญเพื่อขอรับราชการตอนหลังภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2500 หลังจากออกจากกระทรวงเศรษฐการแล้ว โจทก์ได้รับบำนาญตลอดมาจนถึงพ.ศ. 2502 แต่ทางราชการได้เรียกบำนาญในปี พ.ศ. 2501 และ 2502 คืนไปแล้ว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์จะขอคิดเวลาสำหรับคำนวณบำนาญต่อกันได้ก็ต่อเมื่อได้บอกเลิกบำนาญภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับยกฐานะเป็นข้าราชการ แต่ปรากฏว่าโจทก์มิได้บอกเลิกบำนาญตามกำหนดเวลาดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิขอให้คิดเวลาติดต่อกันสำหรับคำนวณบำนาญ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2499 ยกฐานะให้โจทก์เป็นข้าราชการย้อนหลังไปถึงวันที่โจทก์เข้าทำงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง คือตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2477 มิใช่กรณีโจทก์กลับเข้ารับราชการใหม่ แม้โจทก์จะมิได้บอกเลิกรับบำนาญตามกำหนดแห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญก็หาตัดสิทธิโจทก์ที่จะได้รับการคิดคำนวณบำเหน็จบำนาญโดยมีเวลาราชการติดต่อกันไม่ พิพากษากลับให้จำเลยปฏิบัติการนับเวลาราชการเพื่อคำนวณบำนาญของโจทก์ติดต่อเป็นตอนเดียวกันตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2463 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2505 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โจทก์ไม่มีทนายความ จึงไม่ให้ค่าทนายความ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนมาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน2463 ได้ลาออกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2477 และได้รับบำนาญตลอดมาจนถึงพ.ศ. 2502 แต่ได้คืนเงินบำนาญประจำปี พ.ศ. 2501 และ พ.ศ. 2502 ให้แล้วในระหว่างที่โจทก์รับบำนาญตลอดมานั้น โจทก์เป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งหากไม่มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2499 ออกมายกฐานะให้โจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนย้อนหลังไปถึงวันที่โจทก์เริ่มเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธินับเวลาตอนเป็นลูกจ้างนี้มาคำนวณเพื่อรับบำนาญได้เลยแต่เนื่องจากมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้นับเวลาระหว่างที่เป็นศาสตราจารย์ประจำ อาจารย์ประจำ อาจารย์ผู้ช่วย หรือพนักงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วแต่กรณีติดต่อกับวันที่ได้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญตามพระราชบัญญัตินี้เป็นเวลาราชการสำหรับคำนวณบำนาญด้วย ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธินับระยะเวลาราชการตอนหลังนี้มาคำนวณบำนาญได้อีกตอนหนึ่งแต่การจะนับระยะเวลาสองตอนนี้ต่อกันได้หรือไม่ จะต้องพิจารณาจากพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการดังกล่าวมิได้บัญญัติเกี่ยวกับกรณีตามข้อเท็จจริงของโจทก์นี้เลย คงมีบัญญัติแต่เฉพาะกรณีที่ข้าราชการพลเรือนซึ่งได้รับหรือมีสิทธิในบำนาญปกติแล้ว ภายหลังกลับเข้ามารับราชการใหม่และเลิกรับบำนาญในขณะที่กลับเข้ามารับราชการใหม่นั้นจึงมีสิทธิคิดเวลาราชการครั้งก่อนและครั้งหลังติดต่อกันได้ แต่ก็ต้องบอกเลิกรับบำนาญเสียภายใน30 วันนับแต่วันกลับเข้ารับราชการใหม่ ทั้งนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว กรณีของโจทก์จะถือว่าการที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2494 มาตรา 5 ให้โจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญย้อนหลังไปถึงวันที่โจทก์เริ่มเข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองนั้นเป็นการกลับเข้ารับราชการใหม่มิได้ เพราะเป็นกรณีที่กฎหมายเปลี่ยนฐานะของโจทก์จากการเป็นลูกจ้างมาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญเท่านั้น ไม่มีการกลับเข้ารับราชการใหม่แต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม การใช้กฎหมายนั้นหากไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้และไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้บังคับก็ต้องวินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เนื่องจากโจทก์เป็นผู้ได้รับบำนาญอยู่ก่อนที่โจทก์จะได้รับการเปลี่ยนฐานะจากลูกจ้างมาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ จึงควรเทียบได้กับมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2494 ในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา 30 ดังกล่าว ข้าราชการผู้ประสงค์จะให้คิดเวลาราชการทั้งการรับราชการครั้งเก่าและครั้งใหม่สำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญนั้น จะต้องบอกเลิกรับบำนาญเสียก่อนภายใน 30 วันนับแต่วันกลับเข้ารับราชการใหม่ กรณีของโจทก์ เมื่อไม่มีวันกลับเข้ารับราชการใหม่ ก็ควรจะต้องถือว่าหากโจทก์ประสงค์จะให้คิดเวลาราชการทั้สองครั้งติดต่อกัน โจทก์ก็ต้องบอกเลิกรับบำนาญเสียภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันประกาศใช้บังคับของพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2499 เมื่อโจทก์มิได้บอกเลิกรับบำนาญภายในกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้จำเลยคิดเวลาราชการสำหรับคำนวณบำนาญทั้งเวลาราชการครั้งก่อนและครั้งหลังติดต่อกันได้
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นให้ยกฟ้องของโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เห็นสมควรให้เป็นพับ