คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 มุ่งบัญญัติถึงสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งได้มีการออกโฉนดเป็นกรรมสิทธิแก่ผู้หนึ่งผู้ใดแล้ว หนังสือรับรองการทำประโยชน์หาใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินทางทะเบียนดังเช่นโฉนดที่ดินไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมิได้เป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาท แม้จะอ้างว่าได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่พิพาทมาก็ตาม จะใช้ยันกับโจทก์ซึ่งได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทตลอดมาหาได้ไม่
เมื่อปรากฏแก่ศาลฎีกาว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ได้พิพากษาให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2515 นั้นผิดพลาดไป เพราะวันที่แท้จริงนั้นเป็นวันที่ 18 มิถุนายน 2516 ศาลฎีกาก็ชอบที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดนี้เสียให้ถูกต้องโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 143 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2497 โจทก์ได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินรกร้างว่างเปล่า 1 แปลง ในปี พ.ศ. 2509 หรือ 2510 จำเลยที่ 2 ได้มาขอให้โจทก์ลงชื่อรับรองเขตที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งอยู่ติดต่อกับที่ดินสงวนของกรมทางหลวงแผ่นดิน โดยอ้างว่ากรมทางหลวงแผ่นดินไม่สงวนที่ดินนั้นแล้ว เพื่อจำเลยที่ 2 จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)สำหรับที่ดินแปลงดังกล่าวโจทก์หลงเชื่อได้ลงชื่อให้ไป ต่อมาจำเลยทั้ง 3ได้ร่วมกันฉ้อโกงเอาที่สวนยางของโจทก์บริเวณที่ดินหมายอักษร ก.ข.ค.งตามแผนที่ท้ายฟ้อง เพื่อเอาดินลูกรังขายให้แก่แขวงการทางกระบี่ กรมทางหลวงแผ่นดิน โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของตนตาม น.ส.3และในวันที่ 18 มิถุนายน 2516 จำเลยทั้งสามได้ให้นายแฉลูกจ้างจำเลยที่ 3นำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดินในสวนยางของโจทก์เสียหายคิดเป็นเงิน 246,350 บาทแต่โจทก์ขอเรียกร้องเพียง 75,000 บาท หากทางพิจารณาได้ความว่าที่ดินภายในเส้นหมาย ก.ข.ค.ง. เป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยทั้งสองก็ขาดสิทธิครอบครองในที่ดิน เพราะโจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาเป็นเวลา 19 ปีแล้ว ทั้งเมื่อจ่าศาลไปทำแผนที่ จำเลยที่ 1 ได้นำชี้ที่ดินทางตอนใต้ของที่ดินภายในเส้น ก.ข.ค.ง. อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอพิพากษาว่าที่ดินตาม น.ส.3 และที่ดินทางตอนใต้ของ น.ส.3 เป็นที่ดินของโจทก์ ให้เพิกถอนหนังสือ น.ส.3 ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 75,215.15 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี จากเงิน 75,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่พิพาทได้ยกให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการครอบครองไว้ตาม ส.ค.1 เมื่อ พ.ศ. 2498 ต่อมา พ.ศ. 2510 ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโจทก์ได้ลงชื่อรับรองเขตที่ดินติดต่อ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 จำเลยที่ 3 ได้ให้ลูกจ้างนำรถเข้าไปไถในที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ห้ามและฟ้องจำเลยที่ 3 ต่อศาล จำเลยที่ 3 ยอมใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงถอนฟ้อง หากโจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาท โจทก์ก็หมดสิทธิฟ้อง เพราะจำเลยที่ 1 ครอบครองที่พิพาทมาเกินกว่า 1 ปีแล้ว

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม ศาลอนุญาตให้นางสี่หย้าเข้าเป็นคู่ความแทน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่พิพาทให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2516 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกคำขอที่ให้เพิกถอน น.ส.3

โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1และที่ 3 ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 20,000 บาทนับแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2515 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพฤติการณ์เชื่อได้ว่าโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทตลอดมา แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่พิพาทมาก็ตาม เมื่อจำเลยมิได้เป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาท หนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว จะนำข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373มาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้ เพราะกฎหมายมาตรานั้นมุ่งบัญญัติถึงสิทธิครอบครองในที่ดิน ซึ่งได้มีการออกโฉนดเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดแล้ว หนังสือรับรองการทำประโยชน์หาใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินทางทะเบียนดังเช่นโฉนดที่ดินไม่

แต่โดยที่ปรากฏแก่ศาลฎีกาว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ได้พิพากษาให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 18มิถุนายน 2515 ซึ่งผิดพลาดไปเพราะวันที่จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์นั้นเป็นวันที่ 18 มิถุนายน 2516 ชอบที่ศาลฎีกาจะแก้ไขข้อผิดพลาดนี้เสียให้ถูกต้องโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 143 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ให้แก้วันที่ให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์จากวันที่ 18 มิถุนายน 2515 เป็นนับแต่วันที่ 18มิถุนายน 2516

Share