แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ความว่า หนังสือแจ้งภาษีเงินได้ตามเอกสารหมายเลข 1 ถึง 5 ท้ายฟ้อง ไม่ถูกต้องตรงกับความจริง เพราะมีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ปนอยู่โจทก์ได้อ้างประมวลรัษฎากร มาตรา 42 ถึงมาตรา 47 และอ้างรายการประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่ (ก) ถึง (ณ) แม้โจทก์จะมิได้กล่าวว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นประเภทใด มีจำนวนเท่าใด ก็เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องของโจทก์เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วการนำสืบของโจทก์ไม่เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็น
โจทก์ซึ่งถูกเรียกเก็บภาษีเงินได้เป็นฝ่ายกล่าวอ้างขึ้นว่า โจทก์ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพราะจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรจำเลยประเมินมานั้นมิใช่เงินได้พึงประเมิน หรือแม้เป็นเงินได้พึงประเมินก็ได้รับยกเว้นภาษีดังนี้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้กล่าวอ้างจะต้องพิสูจน์ว่า เงินจำนวนนั้น ๆได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้เพราะเหตุใด กล่างอีกนัยหนึ่ง โจทก์จะต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า เงินจำนวนนั้น ๆ มิใช่เงินได้พึงประเมินหรือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีนั่นเอง
โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่า โจทก์ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินที่เรียกกันว่าค่าพาหนะ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบว่าเงินนี้เข้าลักษณะเงินค่าพาหนะตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา 42(1) หาใช่หน้าที่จำเลยนที่จะต้องนำสืบไม่
เงินที่โจทก์ได้รับในชื่อค่าพาหนะจำนวน 295,500 บาท โดยจำนวน วิธีการจ่ายและพฤติการณ์ที่แท้จริง มีลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 หาเข้าลักษณะค่าพาหนะซึ่งโจทก์ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของโจทก์และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นตามมาตรา 42(1) ไม่ ฉะนั้น เงินจำนวน 295,500บาทนี้ จำเลยจึงมีอำนาจตามกฎหมายที่จะรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ของโจทก์
โจทก์ได้หุ้นซึ่งเรียกกันว่าหุ้นฟรีรวมเป็นเงิน 341,250 บาทมาเพราะโจทก์ทำงานให้ ส.ส. จึงให้หุ้นตอบแทน เห็นได้ว่าโจทก์ได้หุ้นมาเป็นประโยชน์ตอบแทนกับการที่โจทก์ได้ทำงานให้แก่ผู้ให้ ประโยชน์นั้นมีมูลค่าเป็นเงิน จึงถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้รับมาตามความในมาตรา 40(2)(8) แห่งประมวลรัษฎากร หาใช่ว่าโจทก์ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาของผู้ให้หุ้นแก่โจทก์ไม่ กรณีหุ้นที่เรียกว่าหุ้นฟรีจึงไม่ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(10)
โจทก์ได้รับเช็คมาโดยตรงจากบริษัท ส.มิใช่บริษัทส. จ่ายให้บุคคลอื่นแล้วบุคคลนั้นมอบให้โจทก์อีกต่อหนึ่งเพื่อให้โจทก์ทำธุระแทนเงิน 150,000 บาทตามเช็คจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)แห่งประมวลรัษฎากร
การที่พ่อค้าให้เงินจำนวนมากแก่ข้าราชการ แม้ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่จะถือว่าเป็นการให้ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีได้หรือไม่นั้น กรณีอย่างนี้ยากที่จะถือเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวได้ การณ์ย่อมแล้วแต่คติร่วมกันของฝ่ายผู้ให้และผู้รับ ฉะนั้นเช็ค 4 ฉบับ จำนวนเงิน 70,000 บาทที่โจทก์ได้รับเป็นของขวัญในวันขึ้นปีใหม่จากบริษัท ส.ก. จึงเข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้เพราะเป็นเงินที่ได้จากการให้โดยเสน่หาตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(10)
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19,20 กฎหมายเพียงแต่บัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการและพยานมาให้การไต่สวน ในเมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่ารายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริง เป็นการให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมินในอันที่จะใช้ดุลพินิจว่สมควรจะไต่สวนหรือไม่หาได้บัญญัติบังคับเจ้าพนักงานประเมินให้จำต้องกระทำได้
เช็คฝากธนาคารซึ่งบริษัท ก. สั่งจ่ายให้โจทก์ ที่จำเลยนำไปคำนวณเสียภาษีเงินได้นั้น เป็นเงินทดรองจากเงินส่วนตัวของโจทก์เองที่โจทก์ได้รับคืนมา หาใช่เงินได้พึงประเมินไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาและมีคำสั่งว่า การประเมินภาษีเงินได้ของจำเลยที่ 5 และเจ้าพนักงานประเมินตามเอกสารหมาย 1 ถึง 5 ท้ายฟ้องและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามเอกสารหมาย 8ท้ายฟ้องนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวเสียและสั่งไม่ปรับและหรือลดค่าปรับที่เพิ่มภาษีแก่โจทก์ และขอให้ศาลสั่งให้จำเลยที่ 1 จัดให้เจ้าพนักงานประเมินจัดการประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ที่ 1 เสียใหม่ให้ถูกต้อง
ขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้เพิกถอนคำสั่งยึดเงินของโจทก์ทั้งสองในธนาคารตามเอกสาร 9 ท้ายฟ้อง และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6ร่วมกันรับผิดคืนเงินที่ยึดไปนั้นให้แก่โจทก์ หากไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็ให้จำเลยดังกล่าวร่วมกันรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ 4,739,297.26 บาท
ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 258,686.66 บาท และให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ต่อไปเดือนละ 59,241.22 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองได้เงินคืน โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 รับผิดเป็นส่วนตัวในค่าเสียหายนี้อีกด้วย
จำเลยทั้งหกให้การร่วมกันว่า ในการจัดการเก็บภาษีอากรจากโจทก์ตามฟ้อง จำเลยทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการไปตามอำนาจและหน้าที่ถูกต้องชอบด้วยระเบียบและกฎหมายทุกประการ คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม
ในระหว่างสืบพยานจำเลย นายหิรัญ สูตะบุตร จำเลยที่ 2ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การประเมินภาษีเงินได้ของจำเลยที่ 5 และเจ้าพนักงานประเมินตามเอกสารหมาย 1 ถึง 5 ท้ายฟ้อง และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตามเอกสารหมาย 8 ท้ายฟ้อง ยังไม่ถูกต้องให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่กล่าวเสีย ไม่ให้สั่งเพิ่มภาษีแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 จัดให้เจ้าพนักงานประเมินจัดการประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ที่ 1 เสียใหม่ให้ถูกต้อง ให้เพิกถอนคำสั่งยึดเงินในธนาคารของโจทก์ทั้งสองตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9 ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยรับผิดคืนเงินที่ยึดไปแก่โจทก์นั้น ประกาศยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 6 ตามเอกสาร จ.37 แผ่นที่ 5 ถึง 12 ก็เพียงแต่ห้ามไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดกระทำให้เสียหายหรือก่อให้เกิด โอน หรือ เปลี่ยนแปลง ไปซึ่งสิทธิในทรัพย์ที่ยึดไว้ หรือเอาทรัพย์สินนั้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาต เงินของโจทก์ที่ถูกยึดจึงยังคงอยู่ที่ธนาคารต่าง ๆ โจทก์ย่อมมีสิทธิไปรับเอาได้จึงไม่บังคับให้จำเลยคืนให้ คำขออื่น ๆ ของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงิน 4,739,297.26 บาท นับแต่วันฟ้องคิดเป็นเงินเดือนละ 59,241.22 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง จนกว่าโจทก์จะได้รับเงินที่ถูกยึดไปกลับคืน
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมและขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ นอกจากที่จำเลยแถลงรับว่าคำนวณเกินไป 43,808.65 บาทเป็นการถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว จะเพิกถอนการประเมินได้เฉพาะที่จำเลยรับว่าได้คำนวณเกินไปดังกล่าวเท่านั้น และขอให้พิพากษาไม่เพิกถอนคำสั่งยึดเงินของโจทก์ทั้งสองในธนาคาร
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในข้อที่ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยที่ 1 จัดให้เจ้าพนักงานประเมินจัดการประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ที่ 1 เสียใหม่ให้ถูกต้องนั้นเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฝ่ายเดียวฎีกา ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 1 ถึงแก่มรณะ โจทก์ที่ 2 ร้องขอเป็นผู้รับมรดกความ ศาลฎีกาอนุญาต
ในประเด็นที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ศาลฎีกาได้ตรวจดูคำฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องความว่า หนังสือแจ้งภาษีเงินได้ตามเอกสารหมายเลข 1 ถึง 4 ท้ายฟ้องไม่ถูกต้องตรงกับความจริง เพราะมีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ปะปนอยู่โจทก์ได้อ้างประมวลรัษฎากร มาตรา 42 ถึงมาตรา 47 และอ้างรายการประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่ (ก) ถึง (ณ) แม้โจทก์จะมิได้กล่าวว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นประเภทใด มีจำนวนเท่าใด ก็เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ จึงเห็นว่าฟ้องของโจทก์ได้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วการนำสืบของโจทก์ไม่เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็นดังที่จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งถูกเรียกเก็บภาษีเงินได้เป็นฝ่ายกล่าวอ้างขึ้นว่า โจทก์ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เพราะจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรจำเลยประเมินมานั้นมิใช่เงินได้พึงประเมิน หรือแม้เป็นเงินได้พึงประเมินก็ได้รับยกเว้นภาษีดังนี้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้กล่าวอ้างจะต้องพิสูจน์ว่า เงินจำนวนนั้น ๆได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้เพราะเหตุใด กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือโจทก์จะต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่าเงินจำนวนนั้น ๆ มิใช่เงินได้พึงประเมินหรือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีนั่นเอง
จำเลยฎีกาว่า เงินค่าพาหนะที่จะได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(1) ต้องเป็นเงินค่าพาหนะที่จะต้องจ่ายไปหมดแล้ว กรณีค่พาหนะของโจทก์หาใช่ค่าพาหนะที่จ่ายไปหมดสิ้นแล้วไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์หรือจำเลยจะเรียกเงิน 295,500.00 บาทนี้ว่าค่าพาหนะหรือเรียกว่าเงินอะไรก็ตาม การที่เงินจำนวนนี้จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้หรือไม่นั้น ศาลก็จะต้องพิเคราะห์โดยอาศัยประมวลรัษฎากร มาตรา 42(1) เป็นหลักอยู่นั่นเอง คดีนี้โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าโจทก์ได้รับยกเว้นตามกฎหมายไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินนี้ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบว่าเงินนี้เข้าลักษณะเงินค่าพาหนะตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา 42(1)หาใช่หน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบไม่ ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้นำสืบเป็นประการอื่น ค่าพาหนะที่โจทก์ได้รับมาจึงน่าเชื่อว่าโจทก์ได้จ่ายเป็นค่าพาหนะไปทั้งหมดนั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าเงินที่โจทก์ได้รับในชื่อของค่าพาหนะนี้ โดยจำนวน วิธีการจ่าย และพฤติการณ์ที่แท้จริงมีลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40 นั่นเอง หาเข้าลักษณะค่าพาหนะซึ่งโจทก์ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของโจทก์ และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นตามมาตรา 42(1) ไม่ฉะนั้นเงินจำนวน 295,500 บาทนี้ จำเลยจึงมีอำนาจตามกฎหมายที่จะรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ของโจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
จำเลยฎีกาว่า หุ้นฟรีในบัญชีท้ายคำให้การแผ่นที่ 11 ประกอบด้วยแผ่นที่ 12 พ.ศ. 2502, 2504 และ 2506 รวมเป็นเงิน 341,250บาท ซึ่งโจทก์ที่ 1 ได้รับมาจากบริษัททิพยประกันภัย จำกัด บริษัทเหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ จำกัด และบริษัทไทยแลนด์สเมลติ้ง จำกัดการประเมินเรียกเก็บภาษีจากหุ้นฟรีจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลฎีกาเห็นว่า หุ้นเหล่านี้จะเป็นหุ้นชนิดที่เรียกว่าหุ้นฟรีหรือไม่ก็ตามปัญหาคงอยู่ที่ว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์อันจะพึงถือได้ว่าเป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2)(8) หรือไม่นั่นเอง โจทก์เองแถลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 7 มีนาคม 2510 ว่า โจทก์ได้หุ้นมาเพราะโจทก์ทำงานให้จอมพลสฤษดิ์ จอมพลสฤษดิ์จึงให้หุ้นทั้งหมดนี้ตอบแทน ตามนี้เห็นได้ว่าโจทก์ได้หุ้นเหล่านี้มาเป็นประโยชน์ตอบแทนกับการที่โจทก์ได้ทำงานให้แก่ผู้ให้ ประโยชน์นั้นมีมูลค่าเป็นเงิน จึงถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้รับมาตามความในมาตรา 40(2)(8) แห่งประมวลรัษฎากร หาใช่ว่าโจทก์ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาของผู้ให้หุ้นเหล่านี้แก่โจทก์ไม่ และเมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้วโจทก์จะได้รับหุ้นเหล่านี้จากจอมพลสฤษดิ์ผู้เป็นพี่ของโจทก์ดังที่โจทก์แถลงหรือได้รับจากบริษัทผู้มีชื่อทั้งสามดังกล่าวข้างต้นตามที่จำเลยอ้างก็ตามก็มิได้ทำให้ผลตามกฎหมายของประเด็นข้อนี้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดกรณีหุ้นที่เรียกว่าหุ้นฟรีรวมเป็นเงิน 341,250 บาทนี้จึงไม่ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(10) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงได้ว่าเงินดอกเบี้ยที่โจทก์ได้รับจากธนาคารเอเซียสำหรับ พ.ศ. 2503 จำนวน 38,486.73 บาท พ.ศ. 2504 จำนวน33,373.12 บาท ฉะนั้น เงินดอกเบี้ยที่จำเลยนำมาคำนวณเรียกเก็บสำหรับ พ.ศ. 2503 จึงเกินไป 50 สตางค์และ พ.ศ. 2504 เกินไป15,220.72 บาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ศาลฎีกาเห็นว่าเงินสดฝากธนาคารรวม 909,110.09 บาทยังถือไม่ได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8)ดังที่จำเลยฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาว่า เช็คที่นำฝากธนาคารตามบัญชีหน้า 15, 16, 17 ท้ายคำให้การรวม 72 รายการ ย่อมฟังได้ว่าโจทก์มีเงินได้ เมื่อโจทก์ชี้แจงไม่ได้ว่าควรได้ยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 ถึง 47ก็ต้องถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8)
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเรื่องเช็คต่าง ๆ ตามลำดับที่จำเลยฎีกา
(1) เช็คนำฝากธนาคารเอเซียฯ ลำดับที่ 2 วันที่ 13 สิงหาคม 2502เงิน 150,000 บาท ซึ่งบริษัทสหไม้ขีดไฟ จำกัด เป็นผู้สั่งจ่าย รูปคดีบ่งว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับเช็คฉบับนี้มาโดยตรงจากบริษัท มิใช่บริษัทจ่ายให้แก่บุคคลอื่น แล้วบุคคลนั้นมอบให้โจทก์ที่ 2 อีกต่อหนึ่งเพื่อให้โจทก์ที่ 2ทำธุระแทนดังที่โจทก์นำสืบ ฉะนั้น เงิน 150,000 บาท ตามเช็คฉบับนี้จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
(2) เช็คฝากธนาคารลำดับที่ 8 วันที่ 6 มกราคม 2502 เงิน 10,000บาท บริษัทสยามกลการ จำกัด เป็นผู้สั่งจ่าย ลำดับที่ 29 วันที่ 6 มกราคม2504 เงิน 20,000 บาท บริษัทสยามกลการ จำกัด เป็นผู้สั่งจ่าย ลำดับที่ 50 วันที่ 5 มีนาคม 2505 เงิน 20,000 บาท นางอุษา พรประภา เป็นผู้สั่งจ่าย และลำดับที่ 64 วันที่ 22 มกราคม 2506 เงิน 20,000 บาทนางอุษา พรประภา เป็นผู้สั่งจ่าย โจทก์อ้างว่าเป็นเงินที่ได้รับเป็นของขวัญในวันขึ้นปีใหม่ โดยโจทก์ทั้งสองเบิกความประกอบกันว่า นายถาวรผู้จัดการบริษัทสยามกลการเคยให้แก่โจทก์ที่ 1 ทุกปี นางอุษาเป็นภรรยาของนายถาวร ศาลฎีกาเชื่อว่าความจริงเป็นดังที่โจทก์อ้าง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าการที่พ่อค้าให้เงินจำนวนมากแก่ข้าราชการ แม้ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีอย่างนี้ยากที่จะถือเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวได้ กรณีย่อมแล้วแต่คติร่วมกันของฝ่ายผู้ให้และผู้รับ ศาลฎีกาเห็นว่า เงินจำนวนรวม70,000 บาทตามเช็ค 4 ฉบับนี้ เข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้เพราะเป็นเงินที่ได้จากการให้โดยเสน่หา ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(10) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
(3) เช็คฝากธนาคาร รวมเป็นเงิน 4,563,713.48 บาท (ที่ถูกรวมเป็นเงิน 4,563,711.48 บาท) ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์เป็นฝ่ายฟ้องร้องและกล่าวอ้างว่าเช็คเหล่านี้มิใช่เงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) โจทก์จึงเป็นฝ่ายมีหน้าที่พิสูจน์ให้เห็นจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์เถียงในคำแก้ฎีกาว่า นายวิโรจน์กรรมการตรวจสอบภาษีปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อประมวลรัษฎากร มาตรา 19และ 20 ซึ่งบัญญัติให้เจ้าพนักงานทำการตรวจสอบพยานหลักฐานให้ได้ความชัดแจ้งก่อนว่าเช็คที่นำฝากธนาคารเป็นเงินได้พึงประเมินตามกฎหมาย
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19, 20 ศาลฎีกาเห็นว่า กฎหมายเพียงแต่บัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการและพยานมาในการไต่สวนในเมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่ารายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริง เป็นการให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมินในอันที่จะใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะไต่สวนหรือไม่ หาได้บัญญัติบังคับเจ้าพนักงานประเมินให้จำต้องกระทำดังที่โจทก์เข้าใจไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ไม่อาจนำสืบให้เชื่อได้ว่าความจริงเป็นดังที่โจทก์ฟ้องร้องและกล่าวอ้าง จึงถือได้ว่าเงินจำนวน 4,563,711.48 บาทตามเช็คทั้ง 15 ลำดับนี้ เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
(4) เช็คฝากธนาคารลำดับที่ 61 เงิน 57,143 บาท
(5) เช็คฝากธนาคาร ลำดับที่ 22 เงินตามเช็ค 4 ลำดับรวม ….. บาท
(6) เช็คฝากธนาคาร ลำดับที่ 35, 36 เงิน 10,000 บาท
(7) เช็คฝากธนาคาร ลำดับที่ 65 เงิน 8,316.23 บาท
ตาม (4) (5) (6) (7) ดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์นำสืบไม่สมข้ออ้าง ถือได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามกฎหมาย ฎีกาของจำเลยทุกข้อดังกล่าวฟังขึ้น
(8) เช็คฝากธนาคารซึ่งบริษัทกรุงเทพฯ ไหมไทย จำกัด รวม 64รายการ จำเลยนำไปคำนวณภาษีเงินได้ 31 รายการ อีก 15 รายการจำเลยได้ตัดออกไม่นำไปคำนวณภาษีเงินได้ ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ในประเด็นข้อนี้เชื่อได้ว่าเช็คฝากธนาคารซึ่งบริษัทกรุงเทพฯ ไหมไทย จำกัด สั่งจ่ายให้โจทก์ 31 รายการที่จำเลยนำไปคำนวณภาษีเงินได้นั้น เป็นเงินทดรองจากเงินส่วนตัวของโจทก์เองที่โจทก์ได้รับคืนมา หาใช่เงินได้พึงประเมินไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
(9) จำเลยฎีกาว่า เช็คฝากธนาคารตามบัญชีแผ่นที่ 15, 16, 17ท้ายคำให้การซึ่งศาลแพ่งไม่ได้วินิจฉัย แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าน่าเชื่อตามโจทก์อ้าง คือ
เช็คตั้งแต่ ก. ถึง ซ. รวม 9 ฉบับ รวมเงิน 986,098.88 บาทนี้ จำเลยฎีกาว่า ฟังได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมิน ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นหน้าที่โจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ศาลเห็นว่าเงินตามเช็คเหล่านี้ เหตุใดโจทก์จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้ แต่โจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นชัดยังไม่พอที่จะรับฟังได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จึงถือได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8)ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
รวมเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ไม่ได้รับยกเว้นการเสียภาษีเงินได้เป็นจำนวน 6,554,667.59 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จำเลยมีสิทธินำมาคำนวณภาษีเงินได้ด้วย ดังที่จำเลยฎีกา ส่วนเงินได้นอกจากนี้ไม่ใช่เงินได้ที่จำเลยมีสิทธิจะนำมาคำนวณภาษีเงินได้ ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นชอบแล้ว
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในจำนวนเงิน 6,554,667.59 บาท ตามรายการเงินได้ดังกล่าวข้างต้นของโจทก์นั้นชอบแล้ว นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์