คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลเรียกบิดาโจทก์เข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยในคดีเนื่องจากศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) ข.แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 58 จะบัญญัติว่า ผู้ที่ศาลเรียกเข้ามาเป็นคู่ความจะมีสิทธิเสมือนว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องก็ตาม ก็เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ที่ถูกเรียกเข้ามาในคดีเท่านั้น การที่บิดาโจทก์ถูกเรียกเข้ามาในคดี ไม่ใช่เป็นการกระทำของโจทก์ เรียกไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องบุพการีของตน จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534
กฎหมายไม่ได้ห้ามในการนำสืบหักล้างพยานเอกสาร ห้ามแต่การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไข
โจทก์ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดพิพาทได้โอนที่พิพาทนั้นให้จำเลยด้วยความสมัครใจอันเป็นทางให้เสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะขอให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว และการโอนให้นั้นจำเลยมิได้เสียค่าตอบแทนโจทก์จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลย และขอให้เพิกถอนการโอนที่ทำให้ตนเสียเปรียบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300
แม้ในคำขอโจทก์จะไม่ได้ขอให้ถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดก็ตาม แต่ที่ขอให้เพิกถอน ทำลายนิติกรรมให้จำเลยนั้นก็เป็นการขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยอยู่ในตัวแล้วการที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนชื่อจำเลยจึงไม่เกินคำขอ
จำเลยร่วมโอนที่พิพาทส่วนของตนและของโจทก์ไปให้จำเลยอื่นโจทก์จะขอให้เพิกถอนการโอนไปถึงส่วนของจำเลยร่วมด้วยไม่ได้ การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนในส่วนของจำเลยร่วมด้วย จึงเป็นการพิพากษาที่ไม่ชอบ
แม้โจทก์จะไม่ได้อ้างโฉนดพิพาทเป็นพยานก็ตาม แต่โจทก์ได้ระบุมาในฟ้องและนำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดพิพาทเป็นส่วนสัดจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ทั้งจำเลยก็ได้อ้างโฉนดพิพาทเข้ามาในคดีด้วย ดังนี้ ศาลจึงหยิบยกขึ้นพิพากษาให้แก้โฉนดได้
โจทก์ขอให้แสดงว่าโจทก์เป็นเจ้าของและใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดร่วมกับจำเลยรวม 4 คนนั้น มีความหมายให้แสดงว่าโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของคนละ 1 ใน 4 แม้จะขอมาในลักษณะเป็นเจ้าของร่วมก็ตาม เมื่อได้ความว่าต่างได้ครอบครองเป็นส่วนสัดกันแล้ว ศาลก็มีอำนาจที่จะพิพากษาให้แยกส่วนตามที่ครอบครองเป็นส่วนสัดกันนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2)(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 5/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับแบ่งที่ดินจากนายดำนางหยวก และปกครองทำนาเป็นส่วนสัดมาเกิน 10 ปีแล้ว จำเลยมีเจตนาไม่สุจริตเอาใบมอบฉันทะมีชื่อนายดำเป็นผู้มอบไปจัดการโอนใส่ชื่อจำเลยในโฉนดที่ดินแปลงที่แบ่งกันนั้นแต่ผู้เดียวโดยโจทก์ไม่ทราบและไม่เคยให้ความยินยอมการโอนใส่ชื่อจำเลยในโฉนดจึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนทำลาย “นิติกรรมให้จำเลย” และให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองร่วมกับผู้มีชื่อในโฉนดอีกสองคน

จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของนายดำ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของและไม่ได้ครอบครอง นายดำมีชื่อในโฉนดแต่ผู้เดียว ข้ออ้างตามฟ้องไม่มีผลบังคับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนจากนายดำโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ได้ฟ้องนายดำด้วย

ศาลเห็นว่า เพื่อให้การพิจารณาคดีเสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกันและเพื่อความยุติธรรมจึงให้เรียกนายดำเข้ามาเป็นจำเลยในคดีโดยเรียกเป็นจำเลยที่ 2

นายดำจำเลยให้การว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของนายดำแต่ผู้เดียวโจทก์ไม่เคยครอบครองที่พิพาท จำเลยครอบครองเป็นเจ้าของตลอดมาและมีสิทธิโอนให้จำเลยที่ 1 ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ฟ้องจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่านายดำนางหยวกได้แบ่งที่ดินแปลงพิพาทเป็น 4 ส่วน ให้โจทก์ทั้งสองคนละส่วน ต่างได้ครอบครองเป็นส่วนสัดกันมาเกิน 10 ปีแล้ว จำเลยที่ 2 โอนที่พิพาทให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวไม่ได้ คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องนายดำ แต่ศาลเรียกนายดำเข้ามาในคดี จึงไม่เป็นอุทลุมให้เพิกถอนการโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ในโฉนดที่ดินที่พิพาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาได้ปรึกษาในที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า การที่ศาลเรียกบิดาโจทก์เข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยในคดี เนื่องจากศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ ยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(3)ข. แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 58จะบัญญัติว่าผู้ที่ศาลเรียกเข้ามาเป็นคู่ความ จะมีสิทธิเสมือนว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องก็ตาม ก็เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ที่ถูกเรียกเข้ามาในคดีเท่านั้น การที่นายดำถูกเรียกเข้ามาในคดีไม่ใช่เป็นการกระทำของโจทก์ ยังเรียกไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องบุพการีไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 และเชื่อว่านายดำนางหยวกได้แบ่งที่พิพาทและยกให้โจทก์ครอบครองเป็นเจ้าของเป็นส่วนสัดมาเกิน 10 ปีแล้ว โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในส่วนที่โจทก์ครอบครอง ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบหักล้างพยานเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ไม่ได้นั้น กฎหมายไม่ได้ห้ามในการนำสืบหักล้างเอกสาร ห้ามแต่การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไข และโจทก์มิได้นำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารตามที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด ตามที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้ขอให้เพิกถอนชื่อนายสุดจำเลยออกจากโฉนดที่ศาลพิพากษาให้ถอนชื่อนายสุดจำเลยออกจากโฉนดจึงเกินขอนั้นเห็นว่า แม้นายดำผู้มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดพิพาทเบิกความยืนยันว่าได้โอนให้นายสุดด้วยความสมัครใจก็ตาม การโอนนี้เป็นทางให้เสียเปรียบแก่โจทก์ผู้ได้ครอบครองปรปักษ์ในที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์และอยู่ในฐานะอันจะขอให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว และเป็นการโอนให้โดยนายสุดมิได้เสียค่าตอบแทนโจทก์จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้และขอให้เพิกถอนการโอนเฉพาะส่วนที่ทำให้ตนเสียเปรียบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แม้ในคำขอจะไม่ได้ขอให้ถอนชื่อนายสุดจำเลยออกจากโฉนดก็ตามที่ขอให้เพิกถอนทำลายนิติกรรมให้จำเลยนั้น ก็เป็นการขอให้เพิกถอนชื่อนายสุดจำเลยอยู่ในตัวแล้ว การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนชื่อนายสุดจำเลยเฉพาะส่วนของโจทก์จึงไม่เกินคำขอ แต่โจทก์ทั้งสองมีส่วนเพียงคนละ 1 ใน 4 ของเนื้อที่ทั้งหมด โจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนไปถึงส่วนของนายดำจำเลยด้วยไม่ได้ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนการโอนใส่ชื่อนายสุดในโฉนดนั้น มีผลเป็นการเพิกถอนการโอนในส่วนของนายดำจำเลยด้วย จึงไม่ชอบ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้อ้างโฉนดพิพาทเป็นพยานประกอบฟ้อง ศาลจะสั่งให้แก้โฉนดยังไม่ชอบนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้อ้างโฉนดพิพาทเป็นพยานก็ตามแต่โจทก์ได้ระบุมาในฟ้องและนำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดพิพาทเป็นส่วนสัดจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ทั้งจำเลยยังได้อ้างโฉนดพิพาทเข้ามาในคดี ศาลจึงหยิบยกขึ้นพิพากษาให้แก้โฉนดได้ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องว่าได้ครอบครองปรปักษ์เฉพาะส่วน แต่ในคำขอท้ายฟ้องมิได้ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เฉพาะส่วนที่โจทก์ครอบครอง คำขอไม่มีผลบังคับนั้น เห็นว่า โจทก์ขอให้แสดงว่าโจทก์เป็นเจ้าของและใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดร่วมกับนางสว่างและนายดำรวม 4 คนนั้นก็มีความหมายแสดงว่าโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของคนละ 1 ใน 4 แม้จะขอมาในลักษณะเป็นเจ้าของร่วมกันก็ตาม เมื่อได้ความว่าต่างได้ครอบครองเป็นส่วนสัดกันนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2)

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้โจทก์ทั้งสองมีส่วนในที่ดินพิพาทตามส่วนที่ครอบครองมา

Share