คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 มาตรา 11 ทวิ ซึ่งได้แก้ไขโดยพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2504 และ มาตรา 12 ทวิ มิได้บัญญัติโดยเด็ดขาดว่าคำสั่งของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวแก่การก่อสร้างอาคาร ให้เป็นที่สุด และเห็นได้ว่าได้ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งการอย่างอื่นได้ด้วย เช่น จะสั่งแต่เพียงให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยไม่ต้องรื้อแทนก็ได้ (อ้างฎีกาที่ 1219/2504) วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารซึ่งปรากฏในคำปรารภมีว่า เพื่อต้องการควบคุมเพื่อประโยชน์ในความมั่นคงแข็งแรงการอนามัย การสุขาภิบาล การป้องกันอัคคีภัย และการผังเมือง ส่วนการให้ขออนุญาตก่อสร้างนั้นเป็นแต่เพียงวิธีดำเนินการ มิใช่วัตถุประสงค์โดยตรง จึงไม่ใช่นโยบายของกฎหมายว่าเพียงแต่ไม่ขออนุญาตก็ต้องสั่งให้รื้อ โดยไม่คำนึงว่าอาคารนั้นผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ ถ้าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสั่งให้รื้อถอนอาคารของโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าได้ก่อสร้างผิดวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารฯ ก็อาจเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนคำสั่งนั้นเสียได้ และเมื่อโจทก์ได้บรรยายมาในฟ้องแล้วว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะสั่งให้รื้อถอนอาคารของโจทก์โดยไม่พิจารณาตรวจคำขออนุญาตปลูกอาคารของโจทก์ หรือให้เหตุผลว่าอาคารของโจทก์ปลูกสร้างขึ้นไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมายอย่างใด จึงเป็นฟ้องที่ต้องรับไว้พิจารณา
คำสั่งจะรื้อถอนอาคารของจำเลยมีถึงภริยาโจทก์ แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ให้ภริยาโจทก์ยื่นขออนุญาตปลูกอาคารรายนี้ จึงแสดงว่าโจทก์ได้ให้ภริยาเป็นผู้ยื่นคำขออนุญาตแทนโจทก์ ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468 และ 1469 โจทก์ก็มีอำนาจจัดการสินบริคณห์และมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อประโยชน์แก่สินบริคณห์ คำสั่งของจำเลยจึงกระทบกระเทือนสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นสามี การกระทำของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 14/2509)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคารในที่ดินของโจทก์ต่อเทศบาลนครกรุงเทพหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายโจทก์ได้ให้ภริยาโจทก์ยื่นขออนุญาตปลูกอาคารอีก เทศบาลนครกรุงเทพมิได้พิจารณาคำร้องของโจทก์และแจ้งเหตุขัดข้องให้โจทก์ทราบในเวลาอันควรโจทก์ได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย จึงได้ปลูกอาคารจนแล้วเสร็จต่อมาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ลงนามแทน ได้มีคำสั่งว่าจะรื้อถอนอาคารของโจทก์ เป็นการไม่สุจริต และมิชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งนั้นเสีย

ศาลชั้นต้นสั่งว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าสร้างอาคารโดยมิได้รับอนุญาตและเทศบาลสั่งให้รื้อแล้ว จึงไม่มีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลสั่งไม่รับฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามมาตรา 11 ทวิ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2504และมาตรา 12 ทวิ มิได้บัญญัติไว้โดยเด็ดขาดว่าคำสั่งของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวแก่การก่อสร้างอาคาร ให้เป็นที่สุด และเห็นได้ว่าได้ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งการอย่างอื่นได้ด้วย เช่น จะสั่งแต่เพียงให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยไม่ต้องรื้อแทนก็ได้ ตามนัยฎีกาที่ 1219/2504 การพิจารณาสั่งของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเช่นนี้ต้องพิจารณาตามสภาพของอาคารเป็นราย ๆ ไป ตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารฯ ซึ่งปรากฏในคำปรารภว่า ต้องการควบคุมเพื่อประโยชน์ในความมั่นคง แข็งแรง การอนามัยการสุขาภิบาล การป้องกันอัคคีภัย และการผังเมือง ส่วนวิธีการให้ขออนุญาตก่อสร้างนั้น เป็นแต่เพียงวิธีดำเนินการ มิใช่วัตถุประสงค์โดยตรงจึงไม่ใช่นโยบายของกฎหมายว่าเพียงแต่ไม่ขออนุญาตก็ต้องสั่งให้รื้อโดยไม่คำนึงว่าอาคารนั้นผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสั่งให้รื้อถอนอาคารของโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าได้ก่อสร้างผิดวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร ก็อาจเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนคำสั่งนั้นเสียได้ โจทก์ได้บรรยายมาในฟ้องแล้วว่า คำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะสั่งให้รื้อถอนอาคารของโจทก์โดยไม่ได้พิจารณาตรวจคำขออนุญาตปลูกสร้างอาคารของโจทก์ หรือให้เหตุผลว่าอาคารของโจทก์ปลูกสร้างไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมายอย่างใด

แม้คำสั่งที่จะรื้อถอนอาคารของจำเลยจะเป็นคำสั่งถึงภริยาโจทก์แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องแล้วว่าโจทก์เป็นสามี และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ปลูกสร้างอาคารเคยยื่นขออนุญาต และครั้งสุดท้ายได้ให้ภริยายื่นขออนุญาต แสดงว่าโจทก์ได้ให้ภริยาเป็นผู้ยื่นคำขออนุญาตแทนโจทก์ ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468 และ 1469 โจทก์เป็นผู้มีอำนาจจัดการสินบริคณห์และมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อประโยชน์แก่สินบริคณห์ คำสั่งของจำเลยจึงกระทบกระเทือนถึงสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นสามี การกระทำของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ด้วย

ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องของโจทก์มีมูลแสดงว่าจำเลยได้ละเมิดสิทธิของโจทก์ จึงเป็นฟ้องที่ต้องรับไว้พิจารณา พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องของโจทก์ไว้ดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไป

Share