คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ผลิตไฟฉายเรโอแวคส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จำเลยผลิตไฟฉายยี่ห้อไฟล๊อต โจทก์จึงฟ้องว่าจำเลยเอาลักษณะ รูปและรอยประดิษฐ์ของโจทก์ไปใช้กับไฟฉายของจำเลย ด้วยเจตนาจะให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นไฟฉายของโจทก์ เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จะเป็นละเมิดนั้น ต้องเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายต่อสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามกฎหมาย มาตรา 272(1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่โจทก์อ้างว่าบัญญัติคุ้มครองสิทธิของโจทก์ไว้นั้น เป็นบทบัญญัติเรื่องเครื่องหมายของสินค้าเท่านั้น เพราะชื่อหรือข้อความในการประกอบการค้าจะแปลว่าเป็นแบบของวัตถุที่ผลิตเป็นสินค้านั้นไม่ได้ ส่วนรอยประดิษฐ์ก็เป็นแต่ลวดลายของเครื่องหมายรูปนั้นก็คือภาพเขียนภาพถ่ายของบุคคลหรือสถานที่หรือสิ่งอื่นที่ใช้ให้ปรากฏที่สินค้าเพื่อให้เป็นที่สังเกตุว่าเป็นสินค้าของตนหาใช่รูปทรงลวดลายของสิ่งผลิตไม่มาตรา 272(1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงไม่ใช่บทบัญญัติห้ามการผลิตวัตถุอันเป็นสินค้ามิให้ซ้ำกันหรือมีแบบมีรูปอย่างเดียวกันเมื่อไม่มีกฎหมายคุ้มครองประโยชน์ที่โจทก์ต้องการจึงไม่เป็นสิทธิที่มีตามกฎหมายการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตไฟฉายเรโอแวค ได้ส่งเข้ามาขายในประเทศไทยกว่า 10 ปีแล้ว เมื่อ 5-6 ปีมานี้ โจทก์ได้ประดิษฐ์ไฟฉายขึ้นแบบหนึ่งอันมีลักษณะรูปรอยประดิษฐ์โดยเฉพาะของโจทก์และได้ใช้ตลอดมา เมื่อเดือนมกราคม 2506 จำเลยได้ผลิตไฟฉายขึ้นจำหน่ายโดยนำเอาลักษณะรูปและรอยประดิษฐ์ของโจทก์ซึ่งใช้กับไฟฉายเรโอแวคไปใช้กับไฟฉายของจำเลยซึ่งใช้ชื่อว่าไพล๊อต ด้วยเจตนาจะให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นไฟฉายของโจทก์ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้ศาลห้ามจำเลยมิให้ผลิตและจำหน่ายไฟฉายของจำเลย ขอให้ทำลายและใช้ค่าเสียหาย

จำเลยให้การว่า ไฟฉายของจำเลยมิได้เลียนแบบของโจทก์จำเลยไม่มีเจตนาให้ผู้ใช้หลงเชื่อว่าเป็นไฟฉายของโจทก์ จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยไว้แล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จะเป็นละเมิดนั้น ต้องเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายต่อสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามกฎหมาย โจทก์อ้างว่ามีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272(1) บัญญัติคุ้มครองสิทธินี้ไว้แต่ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัตินี้เป็นเรื่องเครื่องหมายของสินค้าเท่านั้น เพราะชื่อหรือข้อความในการประกอบการค้าจะแปลว่าเป็นแบบของวัตถุที่ผลิตเป็นสินค้านั้นไม่ได้ ส่วนรอยประดิษฐ์ก็เป็นแต่ลวดลายของเครื่องหมาย รูปนั้นก็คือภาพเขียน ภาพถ่ายของบุคคลหรือสถานที่หรือสิ่งอื่นที่ใช้ให้ปรากฏที่สินค้าเพื่อให้เป็นที่สังเกตุว่าเป็นสินค้าของตน หาใช่รูปทรง ลวดลายของสิ่งผลิตไม่มาตรา 272(1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงมิใช่บทบัญญัติห้ามการผลิตวัตถุอันเป็นสินค้ามิให้ซ้ำกัน หรือมีแบบมีรูปอย่างเดียวกัน เมื่อไม่มีกฎหมายคุ้มครองประโยชน์ที่โจทก์ต้องการ จึงไม่เป็นสิทธิที่มีตามกฎหมายการกระทำของจำเลยหาเป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่

พิพากษายืน

Share