คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5720/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ทนายจำเลยไปดูที่เกิดเหตุคดีอื่นในจังหวัดฉะเชิงเทรา เวลา 8 นาฬิกา รถยนต์ที่ทนายจำเลยขับไปกระทบก้อนหิน ทำให้ก้นถังน้ำมันเครื่องแตกไม่สามารถซ่อมให้เสร็จในวันที่ครบกำหนดอุทธรณ์หรือหากเสร็จก็จะเป็นเวลาเย็น การที่ทนายจำเลยไปคนเดียวและรถของทนายจำเลยมีราคาสองล้านบาท ทั้งไม่รู้จักกับเจ้าของอู่ซ่อมรถจึงไม่อาจทิ้งรถไว้ได้ ถือว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทนายจำเลยไม่อาจยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดลพบุรีซึ่งเป็นศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้ ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งทนายจำเลยอยู่ในเขตศาลในขณะนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจวิเคราะห์ของกลาง

จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามที่ศาลชั้นต้นขยายให้ไปแล้ว 1 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ แต่ปรากฏว่าในวันครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทราโดยยื่นคำร้องว่าไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นได้ทันโดยเหตุสุดวิสัย เนื่องจากทนายจำเลยเดินทางมาดูสถานที่เกิดเหตุที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วรถยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะเกิดอุบัติเหตุ ไม่สามารถใช้ขับกลับจังหวัดลพบุรีได้ ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรามีคำสั่งว่าลงรับไว้แล้วรีบส่งศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งต่อไป ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ทนายจำเลยเบิกความปากเดียวลอย ๆ ฟังไม่ได้ว่ามีเหตุสุดวิสัยตามที่อ้าง ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยได้รับอนุญาตให้ขยายเวลายื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 28 กันยายน 2541 จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดลพบุรีซึ่งเป็นศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนี้ภายในวันที่ 28กันยายน 2541 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198หากไม่อาจยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดลพบุรีได้โดยเหตุสุดวิสัย จำเลยจะยื่นอุทธรณ์โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลซึ่งตนอยู่ในเขตศาลในขณะนั้น (ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา) ก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เมื่อทนายจำเลยยื่นคำร้องขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทราในวันที่28 กันยายน 2541 เวลา 14.30 นาฬิกา และต่อมาทนายจำเลยได้เบิกความในชั้นไต่สวนขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ว่า ทนายจำเลยได้รับมอบหมายจากจำเลยให้ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลจังหวัดลพบุรี และทนายจำเลยได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไป 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาขอขยายวันที่ 29 กันยายน 2541 แต่ศาลจังหวัดลพบุรีขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คดีนี้ไปเพียงวันที่ 28 กันยายน 2541 ซึ่งในวันที่ 28 กันยายน 2541ทนายจำเลยไปดูที่เกิดเหตุคดีอื่นภายในจังหวัดฉะเชิงเทราเวลาประมาณ8 นาฬิกา ปรากฏว่ารถยนต์ของทนายจำเลยขับไปกระทบก้อนหินขนาดใหญ่เป็นเหตุให้ก้นถังน้ำมันเครื่องแตก ช่างบอกว่าไม่สามารถทำการซ่อมให้เสร็จในวันนี้หรือหากเสร็จก็จะเป็นเวลาเย็น เป็นเหตุให้ทนายจำเลยกลับมายื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดลพบุรีไม่ทัน ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องขออนุญาตยืนอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งเป็นศาลที่ทนายจำเลยอยู่ภายในเขตศาลเนื่องจากทนายจำเลยไปคนเดียวและรถของทนายจำเลยมีราคาประมาณสองล้านบาท และไม่รู้จักกับเจ้าของอู่ซ่อมรถจึงไม่อาจทิ้งรถไว้ที่อู่ซ่อมรถ ทนายจำเลยจึงได้ยื่นคำร้องขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทราในวันที่ 28 กันยายน 2541 เวลา 15.30 นาฬิกา เห็นว่าแม้ทนายจำเลยจะเบิกความเพียงปากเดียวว่ารถยนต์ของทนายจำเลยกับถังน้ำมันเครื่องแตกเนื่องจากอุบัติเหตุชนก้อนหินนั้นไม่สามารถซ่อมเสร็จจนขับกลับจังหวัดลพบุรีได้ทันเวลาทำการของศาลจังหวัดลพบุรีในวันที่ 28 กันยายน 2541 และการที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทราในวันนั้นเวลา 15.30 นาฬิกา ย่อมแสดงว่ามีเหตุที่ทนายจำเลยไม่อาจที่จะกลับไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดลพบุรีได้ทันตามที่เบิกความจริง การที่ทนายจำเลยไม่เดินทางโดยรถยนต์คันอื่นกลับไปจังหวัดลพบุรี โดยอ้างว่ามาคนเดียว รถยนต์ของทนายจำเลยมีราคาแพงประมาณสองล้านบาท ไม่รู้จักเจ้าของอู่ซ่อมรถ จึงไม่อาจนำรถของทนายจำเลยทิ้งไว้ที่อู่ซ่อมรถยนต์นั้นก็มีเหตุผลให้รับฟังได้ฉะนั้นเหตุการณ์ที่ทนายจำเลยกล่าวอ้างถือว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทนายจำเลยไม่อาจยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดลพบุรีได้ ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งทนายจำเลยอยู่ในเขตศาลในขณะนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ของจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ อนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์และให้ถือว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 28 กันยายน 2541 ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดให้ศาลชั้นต้นพิจารณาดำเนินการต่อไป

Share