คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5565/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ธนาคารจำเลยจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์โดยพิจารณาจากการที่โจทก์เป็นลูกจ้างอยู่จนถึงวันสิ้นงวดบัญชีและผลการปฏิบัติงานที่ผู้บังคับบัญชาประเมินเท่านั้น แม้จำเลยจะกำหนดอัตราการจ่ายโบนัสไว้โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนของโจทก์เป็นจำนวนแน่นอนแต่ก็มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายตอบแทนการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติของวันทำงานทั้งข้อตกลงระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงาน ธ. ระบุว่า เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติภาระหน้าที่ของพนักงานจำเลยตกลงให้โบนัสพิเศษแก่พนักงานจึงเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้พนักงานทำงานให้ มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงไม่ใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 5
โจทก์เป็นพนักงานของธนาคารจำเลยอยู่ในวันสิ้นเดือนมิถุนายน2541 และผลการปฏิบัติงานผ่านการประเมินของผู้บังคับบัญชาตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิมมีสิทธิได้รับโบนัสงวดแรกของปี 2541 สิทธิของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันสิ้นเดือนมิถุนายน 2541 มิใช่เกิดขึ้นในวันที่ 25 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกับสหภาพแรงงาน ธ. ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นใหม่ภายหลังจากที่โจทก์พ้นจากการเป็นลูกจ้างแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับโบนัสตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงานที่จะมีผลผูกพันลูกจ้าง ต้องเป็นข้อตกลงตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 19 วรรคสอง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นใหม่ย่อมผูกพันเฉพาะลูกจ้างซึ่งทำงานอยู่กับนายจ้างในขณะทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นเท่านั้น เมื่อโจทก์ลาออกก่อนที่จำเลยกับสหภาพแรงงานธ. จะทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่ ขณะสภาพการจ้างเปลี่ยนแปลงไปตามข้อตกลงใหม่โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยและมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานธ. แล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่จึงไม่ผูกพันโจทก์

ย่อยาว

คดีทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดสำนวน ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 121

โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่าโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดเป็นลูกจ้างของจำเลย มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องโบนัสว่าจำเลยจ่ายโบนัสให้พนักงานปีละ 2 ครั้งภายในวันที่ 30 มิถุนายน และ 30 ธันวาคมของปี พนักงานที่มีสิทธิได้รับจะต้องปฏิบัติงานในงวดนั้นไม่ต่ำกว่า 1 เดือน และต้องอยู่ปฏิบัติงานจนถึงวันสิ้นงวดบัญชี ในปี 2541 โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดทำงานจนถึงวันสิ้นงวดบัญชีแรกของปี มีสิทธิได้รับโบนัสคนละประมาณ 3 เท่าของเงินเดือน แต่เมื่อสิ้นงวดบัญชีวันที่ 30 มิถุนายน2541 จำเลยจงใจไม่จ่ายโบนัสให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉยจนกระทั่งโจทก์ทั้งหมดลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยและทวงถามจำเลยตลอดมา ต่อมาจำเลยยอมจ่ายโบนัสให้โจทก์ทั้งหมดคนละ 1 เท่า ของเงินเดือน คงค้างอยู่คนละประมาณ 2 เท่าของเงินเดือน การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจไม่จ่ายโบนัสให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของโบนัสที่ค้างทุกระยะ 7 วันนับแต่วันที่ 1 กันยายน 2541 ถึงวันฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายโบนัสและเงินเพิ่มดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะจ่ายเสร็จแก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดตามฟ้องแต่ละสำนวน

จำเลยทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดสำนวนให้การว่า ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดว่า จำเลยจะพิจารณาจ่ายโบนัสให้ปีละ 2 ครั้ง ภายหลังการปิดบัญชีประจำงวด ดังนั้น จำเลยจะพิจารณาโบนัสภายหลังจากการปิดบัญชี และจะจ่ายโบนัสเมื่อได้พิจารณาเสร็จแล้ว แม้บางครั้งจำเลยมีกำไรและพิจารณาจ่ายโบนัสเสร็จสิ้นเร็วก่อนปิดบัญชีประจำงวด ก็ไม่ทำให้เกิดเป็นสภาพการจ้างอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายโบนัสให้พนักงานก่อนการปิดบัญชีประจำงวดในปีที่จำเลยขาดทุนและยังพิจารณาโบนัสไม่เสร็จสิ้นสำหรับโจทก์ที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ จำเลยได้ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปี 2536 ระหว่างสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพกับจำเลยครบถ้วนแล้ว โจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีสิทธิได้รับโบนัสตามฟ้องอีก ส่วนโจทก์ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพไม่มีสิทธิได้รับโบนัสตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปี 2536แต่จำเลยก็ได้อนุโลมจ่ายโบนัสให้แก่พนักงานส่วนนี้เช่นกัน ดังนั้นการกำหนดอัตราโบนัสของลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพยังเป็นสิทธิของจำเลย เงินโบนัสไม่ใช่เงินต่าง ๆที่จำเลยจะต้องจ่ายแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 9 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มให้โจทก์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อตกลงร่วมทำขึ้นเมื่อวันที่ 25ธันวาคม 2541 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2541ขณะทำข้อตกลงนี้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดได้พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ด ส่วนโบนัสมีระบุไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 6 ว่า “ธนาคาร (จำเลย) จะพิจารณาจ่ายโบนัสให้ปีละ 2 ครั้งภายหลังการปิดบัญชีประจำงวด ทั้งคู่มือการบริหารงานบุคคลบทที่ 4 ค่าตอบแทนและผลประโยชน์อื่น ๆ ก็ระบุว่า จำเลยจ่ายโบนัสให้พนักงานปีละ 2 ครั้ง พนักงานที่มีสิทธิได้รับโบนัสจะต้องปฏิบัติงานในงวดนั้นไม่ต่ำกว่า 1 เดือน และต้องอยู่ปฏิบัติงานจนถึงสิ้นงวดบัญชี พนักงานจะได้รับการพิจารณาโบนัสตามผลการปฏิบัติงานที่ผู้บังคับบัญชาประเมิน แสดงว่าจำเลยพิจารณาจ่ายโบนัสจากสถานภาพว่ายังเป็นพนักงานอยู่จนถึงวันสิ้นงวดบัญชีหรือไม่และพิจารณาผลการปฏิบัติงานประกอบด้วยเท่านั้น มิได้ให้สิทธิจำเลยนำผลประกอบการของจำเลยมาพิจารณาด้วย ดังนั้น จำเลยจึงต้องจ่ายโบนัสตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและคู่มือการบริหารงานบุคคล ส่วนวันปิดบัญชีประจำงวดหมายถึงวันสิ้นเดือนมิถุนายนและธันวาคมของปี ซึ่งหมายถึงการจ่ายโบนัสหลังวันดังกล่าวนั้นเอง แต่โดยสภาพน่าจะกำหนดได้กว้าง ๆ ว่าต้องจ่ายก่อนการจ่ายโบนัสงวดถัดไปเท่านั้น โจทก์ทุกคนทำงานกับจำเลยจนพ้นเดือนมิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นวันสิ้นงวดบัญชีงวดแรกของปี 2541 และไม่ปรากฏว่าโจทก์รายใดมีผลประเมินการทำงานไม่สมควรได้รับโบนัสโจทก์ทั้งหมดจึงมีสิทธิได้รับโบนัสงวดแรกของปี 2541 ครั้งสุดท้ายก่อนโจทก์ทั้งหมดออกจากงาน สหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพและจำเลยทำข้อตกลงร่วมฉบับตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2537 ถึงวันที่ 8พฤศจิกายน 2537 และจำเลยออกโครงสร้างเงินเดือนและอัตราโบนัสตามข้อตกลงดังกล่าว ฉบับลงวันที่ 18 มกราคม 2538 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายเช่นกันระบุอัตราโบนัสที่โจทก์แต่ละคนจะได้รับไว้ชัดเจนหลังจากนั้นจำเลยจ่ายโบนัสให้แก่โจทก์ทุกคนตามอัตราดังกล่าวมาตลอดจนถึงงวดสิ้นเดือนธันวาคม 2540 ส่วนงวดเดือนมิถุนายน2541 จำเลยจ่ายให้เพียงคนละ 1 เท่าของเงินเดือน โจทก์ทุกคนมีสิทธิได้รับโบนัสจำนวนแน่นอนตามข้อตกลงและโครงสร้างดังกล่าว ซึ่งโจทก์ทั้งหมดและจำเลยได้ทำบัญชีเพื่อใช้ประกอบการทำคำพิพากษาแล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายโบนัสตามบัญชีดังกล่าวส่วนที่โจทก์เรียกเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะเจ็ดวันนั้น เงินโบนัสไม่ใช่เงินต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 9 โจทก์ทุกคนจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มดังกล่าว แต่เพื่อความเป็นธรรมเห็นสมควรกำหนดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกคนอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินโบนัสนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแต่ละสำนวนแก่โจทก์ทั้ง 121 คน (โจทก์ทั้ง 121 คนฟ้องเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2543)

โจทก์และจำเลยทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดประการแรกว่าเงินโบนัสที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทุกคนเป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 5 ให้คำจำกัดความว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่าเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่นหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ส่วนเงินโบนัสจำเลยจ่ายให้โดยพิจารณาว่าโจทก์ทุกคนยังเป็นลูกจ้างอยู่จนถึงวันสิ้นงวดบัญชีและผลการปฏิบัติงานที่ผู้บังคับบัญชาประเมินเท่านั้นถึงแม้จำเลยจะกำหนดอัตราการจ่ายโบนัสไว้ชัดเจนโดยคำนวณจากฐานเงินเดือนของโจทก์แต่ละคนเป็นจำนวนแน่นอนก็ตาม แต่ก็มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายตอบแทนการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติของวันทำงาน ทั้งข้อตกลงระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพที่ทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.ล.2 (ในคดีหมายเลขดำที่ 11671-16703/2542 ของศาลแรงงานกลาง) ข้อ 4 วรรคสองระบุว่า เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติภาระหน้าที่ของพนักงาน จำเลยตกลงให้โบนัสพิเศษแก่พนักงาน ดังนี้ จะเห็นได้ว่า เงินโบนัสที่จำเลยจ่ายเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้พนักงานทำงานให้ มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานจึงไม่ใช่ค่าจ้าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ทั้งหมดอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ อุทธรณ์โจทก์ทั้งหมดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…

ส่วนจำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยไม่ได้กำหนดวันจ่ายโบนัสที่แน่นอนไว้ในวันลาออกจากงานโจทก์ทุกคนยังไม่มีสิทธิเรียกร้องโบนัสงวดแรกของปี 2541 จากจำเลย ในระหว่างเวลาดังกล่าวจำเลยมีสิทธิขอให้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเรื่องโบนัสตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 สิทธิรับโบนัสของโจทก์ทุกคนเพิ่งเกิดขึ้นในวันที่ 25 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ตามเอกสารหมาย จ.ล.3 กับสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ ถ้าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมายจ.ล.3 ที่ทำขึ้นใหม่ไม่ผูกพันโจทก์ทุกคน ทั้งโจทก์ทุกคนไม่อาจอ้างเอาสิทธิตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.ล.2ซึ่งสิ้นผลไปแล้ว โจทก์ทุกคนจึงไม่มีสิทธิได้รับโบนัสนั้น เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุให้จำเลยจ่ายโบนัสปีละ 2 ครั้ง ภายหลังการปิดบัญชีประจำงวดทั้งคู่มือการบริหารงานบุคคล ตามเอกสารหมาย จ.ล.1 บทที่ 4ก็ระบุให้จำเลยจ่ายโบนัสปีละ 2 ครั้ง ส่วนวันปิดบัญชีประจำงวดหมายถึงวันสิ้นเดือนมิถุนายนและธันวาคมของปี เช่นนี้ จึงมีความหมายว่าให้มีการจ่ายโบนัสหลังวันสิ้นเดือนดังกล่าว ซึ่งโดยสภาพกำหนดไว้กว้าง ๆว่าต้องจ่ายก่อนการจ่ายโบนัสงวดถัดไปเท่านั้น ดังนั้น การพิจารณาว่าโจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับโบนัสงวดแรกของปี 2541 หรือไม่ ต้องพิจารณาตามข้อบังคับการทำงานดังกล่าวโดยพิจารณาจากสถานภาพการเป็นพนักงานและผลการปฏิบัติงานถึงวันสิ้นงวดบัญชีอันได้แก่วันสิ้นเดือนมิถุนายน 2541 เมื่อโจทก์ทุกคนมีสถานภาพการเป็นพนักงานอยู่ในวันสิ้นเดือนมิถุนายน 2541 และผลการปฏิบัติงานผ่านการประเมินของผู้บังคับบัญชา สิทธิได้รับโบนัสงวดแรกของปี 2541 ของโจทก์ทุกคนย่อมเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายน 2541 มิใช่เกิดขึ้นในวันที่ 25ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.ล.3 กับสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นองค์กรย่อมได้แก่ (ผูกพัน) โจทก์ทุกคนโดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพหรือไม่ ดังนั้น เมื่อสภาพการจ้างเดิมถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงไป สิทธิของโจทก์ทุกคนย่อมถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงไปด้วยโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ยังเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพหรือไม่เช่นกันนั้น เห็นว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงานที่จะมีผลผูกพันลูกจ้างนั้นต้องเป็นข้อตกลงตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 19 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำโดยนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างกับสหภาพแรงงานหรือลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันโดยมีลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันเป็นสมาชิกหรือร่วมกันในการเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกินกว่าสองในสามของลูกจ้างทั้งหมด ให้ถือว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นมีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันนั้นทุกคน จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นใหม่นี้จะผูกพันเฉพาะลูกจ้างซึ่งทำงานอยู่กับนายจ้างในขณะทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเท่านั้น เมื่อโจทก์ทุกคนลาออกก่อนที่จำเลยกับสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพจะทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม2541 ดังนั้น ขณะสภาพการจ้างเปลี่ยนแปลงไปตามข้อตกลงใหม่นี้โจทก์ทุกคนไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยและมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพแล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใหม่ดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ทั้งหมด อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกันสรุปได้ว่าศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์และจำเลยทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดสำนวนฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share