คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2367/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯมาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินทดแทนนั้น เมื่อศาลวินิจฉัยให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่ม การรับผิดชำระดอกเบี้ยจึงต้องนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนหาใช่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยหรือไม่ และหนังสือของจำเลยที่แจ้งโจทก์ให้ไปรับเงินค่าทดแทนไม่ระบุว่าให้ไปรับเงินวันใดแต่ได้ความว่าจำเลยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2539 จึงถือได้ว่าเป็นวันที่จำเลยวางเงินค่าทดแทนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนที่ดิน ส่วนที่เพิ่มนับแต่วันนั้น

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามร่วมกันประกอบกิจการค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง โดยมีร้านค้าชื่อ อ.วิเศษชัยค้าวัสดุ ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์เลขที่ 39/12 ปลูกสร้างลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 9112และ 9113 แขวงคันนายาว เขตบึงกุ่ม (บางกะปิ) กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 186 ตารางวา และ 199 ตารางวา ตามลำดับ ถูกเวนคืนทั้งหมดเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอนแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางพลี)บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (วังน้อย) จำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนอาคารพาณิชย์เป็นเงิน 1,705,754 บาท (น่าจะเป็น1,785,754) กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9112 ในราคาตารางวาละ 15,000 บาท เป็นเงิน 2,790,000 บาท และกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9113 ในราคาตารางวาละ 40,000บาท เป็นเงิน 7,960,000 บาท โจทก์ทั้งสามได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวแล้วพร้อมยื่นอุทธรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมวินิจฉัยให้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9112 เพิ่มเป็นตารางวาละ 30,000 บาท เป็นเงิน 2,790,000 บาท และโฉนดเลขที่ 9113 เป็นตารางวาละ 52,500 บาท เป็นเงิน 2,487,500บาท ส่วนสิ่งปลูกสร้างยังมิได้รับการพิจารณา โจทก์ทั้งสามเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่เป็นธรรมเพราะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสามมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาฯ มีผลบังคับใช้ไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 200,000 บาท รวมเป็นเงิน 77,000,000 บาทจำเลยต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอีก 60,972,500 บาทส่วนอาคารพาณิชย์ โจทก์ทั้งสามขอเงินค่าทดแทนเพิ่มอีกเพียง1,000,000 บาท และขอคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินร้อยละ 10.75ต่อปี ของเงินค่าทดแทนเพิ่มทั้งหมด 61,972,500 บาท นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2539 ซึ่งเป็นวันอุทธรณ์ขอเงินค่าทดแทนเพิ่มจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,772,384.37 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 69,744,884.37 บาท แก่โจทก์ทั้งสามพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินจากเงินค่าทดแทนที่จะต้องชำระนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ทั้งสามถูกต้องแล้ว นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9113 เป็นตารางวาละ 52,500 บาทและเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9112 เป็นตารางวาละ30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในปี 2536 นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสาม ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มและจำเลยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 12,847,500บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คำขออื่นและฟ้องโจทก์ที่ 3 ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9112 และ9113 แขวงคันนายาว เขตบึงกุ่ม (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่186 ตารางวา และ 199 ตารางวา ตามลำดับ พร้อมสิ่งปลูกสร้างคืออาคารพาณิชย์เลขที่ 39/12 ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตที่ดินที่จะถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอนแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางพลี) – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1(วังน้อย) พ.ศ. 2536 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์เป็นเงิน1,785,754 บาท กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9112ในราคาตารางวาละ 15,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 9113ราคาตารางวาละ 40,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่ดินสิ่งปลูกสร้างและค่าทดแทนพืชผลทั้งสิ้น 12,541,354 บาทซึ่งโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ที่ 1 และที่ 2ไม่พอใจจึงอุทธรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาอุทธรณ์แล้วกำหนดให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9112 เพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละ 30,000 บาทที่ดินโฉนดเลขที่ 9113 เพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละ 52,500 บาทโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เพิ่มครบถ้วนแล้วปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นตารางวาละ 75,000บาท เท่ากัน เหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า…ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตารางวาละ75,000 บาท เท่ากันทั้งสองแปลงนั้นเป็นราคาที่สูงเกินไปเงินค่าทดแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2ผู้ถูกเวนคืนและสังคมควรเป็นตารางวาละ 65,000 บาท เท่ากันทั้งสองแปลง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ที่ 1และที่ 2 มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เพิ่มนับแต่วันใด เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” ดังนั้น เมื่อศาลวินิจฉัยให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่ม โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทน หาใช่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยหรือไม่ และหนังสือของจำเลยที่แจ้งโจทก์ที่ 1 และที่ 2ได้ไปรับเงินค่าทดแทนไม่ระบุว่าให้ไปรับเงินวันใด แต่ได้ความว่าจำเลยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 20มิถุนายน 2539 วันดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นวันที่จำเลยวางเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เพิ่มนับแต่วันที่ 20มิถุนายน 2539 ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 8,997,500บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับตั้งแต่วันที่ 20มิถุนายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share