แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยฟ้องแย้งและขอให้ศาลหมายเรียกธนาคาร ก.เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมเพื่อให้รับผิดตามฟ้องแย้ง โดยกล่าวหาว่าโจทก์ ธนาคาร ก. และบริษัทโจทก์ร่วมได้โต้แย้งสิทธิของจำเลยด้วยการร่วมกันทำละเมิดต่อจำเลยโดยใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 421ดังนี้ ฟ้องแย้งของจำเลยก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทกันขึ้นว่าโจทก์ ธนาคาร ก. และ บริษัทโจทก์ร่วม ร่วมกันทำละเมิดต่อจำเลยตามฟ้องแย้งหรือไม่ จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องธนาคาร ก.ได้ และลำพังตามคำฟ้องแย้งของจำเลยยังไม่อาจรับฟังได้ว่าธนาคาร ก. ไม่ได้ทำละเมิดต่อจำเลยโดยแน่ชัด การที่ศาลชั้นต้นด่วนวินิจฉัยว่าธนาคาร ก. เป็นเพียงเจ้าหนี้เสียงข้างมากของบริษัท อ. ที่หยุดการจำหน่ายเบียร์ให้จำเลย จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องให้ธนาคาร ก. รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยได้จึงไม่ชอบคดีจึงมีเหตุสมควรหมายเรียกธนาคาร ก. เข้ามาในคดีนี้เพื่อพิจารณารวมกันไปว่าต้องร่วมกับโจทก์และบริษัทโจทก์ร่วมรับผิดต่อจำเลยตามฟ้องแย้งหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าคำว่า “KLOSTER” (อ่านว่า “คลอสเตอร์”) และเครื่องหมายการค้าอักษรไทยคำว่า “คลอสเตอร์” ซึ่งเป็นคำที่เป็นสาระสำคัญของชื่อบริษัทโจทก์ที่ใช้ในการประกอบกิจการค้ามาเป็นเวลาช้านานจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “KLOSTER” อักษรไทยคำว่า “คลอสเตอร์” และเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยแล้ว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2474 สำหรับสินค้าจำพวกที่ 43 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474คำว่า “KLOSTER” ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 กันยายน2538 เครื่องหมายการค้าคำว่า “คลอสเตอร์” ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2540 โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าเบียร์ของโจทก์นำออกจำหน่ายและโฆษณาเป็นเวลานานจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและนิยมแพร่หลายในหมู่สาธารณชนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเป็นอย่างดี เมื่อวันที่ 25มีนาคม 2520 จำเลยซึ่งไม่ได้รับอำนาจจากโจทก์ได้กระทำการโดยไม่สุจริต โดยจำเลยนำชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “คลอสเตอร์” และ “KLOSTER” ของโจทก์ไปจดทะเบียนเป็นสาระสำคัญของชื่อนิติบุคคลของจำเลยว่า “บริษัทคลอสเตอร์(ประเทศไทย) จำกัด” โดยมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Kloster (Thailand)Limited” และยังได้ใช้ชื่อดังกล่าวประกอบการค้าประเภทกิจการจำหน่ายเบียร์ สุรา และเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นกิจการค้าประเภทและชนิดเดียวกันกับกิจการของโจทก์ ทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของกิจการค้าและ/หรือสินค้าได้ว่ากิจการค้าหรือสินค้าของจำเลยเป็นกิจการค้าหรือสินค้าของโจทก์ หรือโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่งกับกิจการค้าและ/หรือสินค้าของจำเลย อันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยยุติการใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทจำเลยเสียใหม่ โดยไม่ใช้คำว่า “KLOSTER” และ “คลอสเตอร์” เป็นชื่อหรือส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยอีกต่อไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและห้ามจำเลยใช้ยื่นจดทะเบียนหรือเกี่ยวข้องใด ๆ กับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “KLOSTER” และ/หรือ “คลอสเตอร์”หรือคำอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกันกับชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “KLOSTER” และ “คลอสเตอร์” ของโจทก์อีกต่อไป
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “KLOSTER” และคำว่า “คลอสเตอร์” ของโจทก์ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนในประเทศไทย จำเลยไม่ได้ล่วงละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และไม่ได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยใช้ชื่อนิติบุคคลของจำเลยว่า”บริษัทคลอสเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด” มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทเมื่อเดือนมีนาคม 2520 ซึ่งจำเลยสามารถใช้ชื่อดังกล่าวได้โดยอาศัยข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่จำกัด และจำเลยมีสิทธิใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ตลอดไปตราบเท่าที่บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัดยังมีสิทธิผลิตเบียร์โดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ ตามหนังสืออนุญาตของโจทก์ จำเลยเป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้น โดยมีบริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และโจทก์กับบริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัด มีข้อตกลงร่วมกันให้จำเลยเป็นผู้แทนจำหน่ายเบียร์คลอสเตอร์แต่ผู้เดียวในประเทศไทย โดยบริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัด เป็นผู้ผลิตเบียร์คลอสเตอร์ขายให้แก่จำเลย และโจทก์ได้รับค่าตอบแทนในการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าชื่อทางการค้า และสูตรในการผลิตเบียร์คลอสเตอร์จากบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด โจทก์ยอมรับและรับรู้ตลอดมาว่าจำเลยได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนจำหน่ายเบียร์ดังกล่าวในประเทศไทยแต่ผู้เดียวตั้งแต่ปี 2520 ตลอดมา ทั้งโจทก์ยังให้การสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมการขายเบียร์คลอสเตอร์ในประเทศไทยซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสามฝ่าย การที่จำเลยใช้ชื่อบริษัทคลอสเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงเป็นการใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าโดยความรู้เห็นยินยอมและเพื่อประโยชน์ร่วมกันในทางการค้าตลอดมา เนื่องจากในการปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนจำหน่ายเบียร์คลอสเตอร์แต่ผู้เดียวในประเทศไทยนั้น จำเลยได้ลงทุนจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการค้าการโฆษณาทางสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์กับทำป้ายโฆษณาตามสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งได้ว่าจ้างบริษัทโฆษณาคิดสร้างสรรค์คำขวัญเพื่อชักจูงลูกค้าจนเป็นที่ยอมรับและติดปากลูกค้าโดยทั่วไปเกี่ยวกับเบียร์คลอสเตอร์ว่า “ความสุขที่คุณดื่มได้” นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจการส่งเสริมการขายอื่น ๆหลายประการจนสินค้าเบียร์คลอสเตอร์มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและแพร่หลายในประเทศไทย การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และโจทก์กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)กับบริษัทไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด จึงได้ใช้สิทธิและอำนาจซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยตั้งแต่ประมาณต้นปี 2543 ต่อเนื่องกันตลอดมาโดยเมื่อต้นปี 2543 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 5/2543 และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียงข้างมากได้ลงมติให้ศาลดังกล่าวแต่งตั้งบริษัทไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอร์ปอเรทรีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อมาในระหว่างที่บริษัทไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่งจำกัด ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวนั้น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัทไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์สคอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด ได้วางแผนและสมคบกับโจทก์ไม่ให้จำเลยเป็นผู้แทนจำหน่ายเบียร์คลอสเตอร์แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยโดยทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยเป็นผู้รับเบียร์คลอสเตอร์จากโรงงานบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด มาจำหน่ายแต่ผู้เดียวในประเทศไทย ทำให้จำเลยมีรายได้ดี มีลูกค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายช่วงจำนวนมากและจำเลยได้ลงทุนทำการโฆษณาส่งเสริมการขายจนเบียร์คลอสเตอร์เป็นที่นิยมของประชาชนโดยทั่วไปแล้ว อีกทั้งจำเลยก็เป็นลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยใช้วงเงินเบิกเกินบัญชีมีการหมุนเวียนกระแสการเงินเป็นจำนวนสูง แต่ต่อมาธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ลดวงเงินสินเชื่อของจำเลยจากจำนวน 30,000,000 บาท ลงเหลือจำนวน 20,000,000 บาทและทุกครั้งที่จำเลยสั่งสินค้าและชำระราคาต่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการจะจัดส่งสินค้าให้เพียงร้อยละ 70เท่านั้น ซึ่งเป็นการถือโอกาสใช้สิทธิหรืออำนาจให้ผิดไปจากแนวทางปฏิบัติทางการค้าระหว่างจำเลยและบริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัด ที่มีอยู่เดิม โดยโจทก์ได้สมคบกับธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) และบริษัทไพร้ซ เวเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส คอร์ปอเรทรีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด โดยให้เบราเออไร เบกแอนด์โก (Buaerei Beck & Co.) ผู้ถือหุ้นใหญ่ของโจทก์ติดต่อกับจำเลยเพื่อเจรจาขอซื้อหุ้นในบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 จากผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัดและบริษัทจำเลยโดยมีเงื่อนไขให้ควบกิจการของจำเลยเข้าไปด้วยซึ่งจะเป็นการเข้าถือหุ้นบริษัทจำเลยร้อยละ 51 เช่นเดียวกันตามหนังสือของเบราเออไร เบกแอนด์โก ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2542เพื่อหวังจะครอบงำกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัดและบริษัทจำเลย จากนั้นโจทก์ได้มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 9 มิถุนายน 2543 ถึงจำเลยห้ามจำเลยใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “คลอสเตอร์” โดยอ้างว่าจำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์ในการใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าตั้งแต่ปี 2520 ซึ่งไม่เป็นความจริง และบริษัทไพรัช วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่งจำกัด ซึ่งเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่จำกัด ได้มีหนังสือแจ้งจำเลยว่าจะหยุดขายเบียร์คลอสเตอร์ทุกชนิดให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2543 เป็นต้นไปกับให้จำเลยจำหน่ายเบียร์คลอสเตอร์ในโกดังให้หมดอย่างช้าภายในวันที่ 30 กันยายน 2543 ส่วนคำสั่งซื้อในช่วงก่อนวันที่ 31สิงหาคม 2543 ให้ชำระเป็นเงินสดในวันส่งมอบและจะส่งมอบให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2543 ตามหนังสือของบริษัทไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัดลงวันที่ 23 สิงหาคม 2543 ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2543บริษัทไพรัช วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่งจำกัด มีหนังสือเวียนแจ้งใบส่งตัวแทนจำหน่ายช่วงเบียร์คลอสเตอร์ว่าได้จัดตั้งบริษัทไทยอมฤต ดิสทริบิวชั่น จำกัดขึ้นเพื่อดำเนินกิจการทางการตลาดและการจัดจำหน่ายเบียร์คลอสเตอร์แทนบริษัทจำเลย แต่เพื่อบรรเทาความเสียหายของจำเลยและผู้แทนจำหน่ายช่วงที่ได้มีคำสั่งซื้อมายังจำเลยแล้วจำเลยจึงได้สั่งสินค้าไปยังผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการอีกเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 แต่ได้รับคำตอบจากผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการว่าสามารถขายสินค้าเบียร์ให้จำเลยได้จำนวนไม่เกิน5,000 ลัง ในวันที่ 30 สิงหาคม 2543 เท่านั้น เพราะธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไม่ยินยอมให้ขายเบียร์ให้ตามคำสั่งซื้อของจำเลย ทั้ง ๆ ที่สินค้ายังมีอยู่ในโกดังของบริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัด จำนวนมาก นอกจากนี้โจทก์ บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยังได้ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่ที่แต่ละคนมีอยู่ช่วงชิงผู้แทนจำหน่ายช่วงไปอยู่ในสังกัดของบริษัทไทยอมฤต ดิสทริบิวชั่น จำกัด นอกจากนี้ยังได้เอาคำขวัญว่า “ความสุขที่คุณดื่มได้” หรือ “Happiness you can drink” ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไปโฆษณาขายเบียร์คลอสเตอร์ทางวิทยุกระจายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตและความยินยอมจากจำเลย การกระทำของโจทก์ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)และบริษัทไพรัช วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่งจำกัด เป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเดิมระหว่างโจทก์กับบริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัด และจารีตประเพณีอันเป็นการร่วมกันว่าละเมิดโดยการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่งจำกัด เป็นบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพพิเศษ เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญพิเศษในการทำแผนธุรกิจการค้า การดำเนินงานจำต้องใช้วิจารณญาณสูงกว่าวิญญูชนทั่วไป หากการจัดตั้งแผนกหรือบริษัทผู้แทนจำหน่ายขึ้นใหม่อีกบริษัทหนึ่งคือ บริษัทไทยอมฤตดิสทริบิวชั่น จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัด ลูกหนี้มีช่องทางการผลิตเบียร์เพิ่มขึ้นอันเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายก็สมควรให้บริษัทจำเลยมีสิทธิซื้อเบียร์คลอสเตอร์จากโรงงานบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัดในราคาเดียวกันกับบริษัทไทยอมฤต ดิสทริบิวชั่น จำกัด ต่อไปอีกทั้งนี้เพื่อให้ฐานทางการตลาดมีศักยภาพและกว้างขวางยิ่งขึ้นการกระทำของโจทก์ บริษัทไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส คอร์ปอเรทรีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ดังกล่าวมาเป็นการใช้สิทธิหรืออำนาจหน้าที่โดยไม่สุจริตโดยจงใจให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียวอันเป็นการละเมิดต่อจำเลย เป็นเหตุให้จำเลยต้องปิดกิจการทางธุรกิจลงและจำต้องเลิกจ้างพนักงานของจำเลย….รวมค่าเสียหายที่โจทก์ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัทไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่งจำกัด ต้องรับผิดต่อจำเลยทั้งสิ้นจำนวน 10,880,753,144.10บาท จำเลยจึงต้องฟ้องแย้งต่อโจทก์ และขอให้ศาลมีหมายเรียกธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัทไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์กับธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) และบริษัทไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอร์ปอเรทรีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน10,880,753,144.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่จำเลยเสร็จสิ้น
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีหมายเรียกธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)และบริษัทไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่งจำกัด เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมเพื่อร่วมรับผิดต่อจำเลยตามคำฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้มีหมายเรียกบริษัทไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ส่วนธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) นั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยไม่อาจฟ้องธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้รับผิดเพราะเป็นเจ้าหนี้เสียงข้างมากของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัดที่หยุดจำหน่ายเบียร์ให้จำเลยทำให้จำเลยได้รับความเสียหายตามคำฟ้องแย้งได้ จึงไม่เรียกธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในชั้นนี้เพียงว่า กรณีมีเหตุให้ศาลเรียกธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมเพื่อร่วมรับผิดต่อจำเลยตามคำฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องแย้งของจำเลยซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องแย้งไว้แล้วนั้น จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)และบริษัทโจทก์ร่วมร่วมกันทำละเมิดต่อจำเลยโดยเดิมโจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ผลิตเบียร์โดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ในประเทศไทยและอนุญาตให้บริษัทดังกล่าวจัดตั้งบริษัทจำเลยโดยนำคำว่า “คลอสเตอร์” และ “KLOSTER” ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อจำเลยว่า “บริษัทคลอสเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด” ดำเนินกิจการเป็นผู้แทนจำหน่ายเบียร์คลอสเตอร์แต่ผู้เดียวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา จำเลยได้ประกอบกิจการค้าเบียร์ดังกล่าวโดยใช้เงินลงทุนโฆษณาและจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าเบียร์คลอสเตอร์ดังกล่าวตลอดมาเป็นเงินจำนวนมาก จนสินค้าเบียร์คลอสเตอร์เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไปในประเทศไทยและโจทก์ตกลงให้จำเลยดำเนินกิจการดังกล่าวได้จนถึงปี 2458 แต่เมื่อปี 2543โจทก์กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และโจทก์ร่วมได้วางแผนและร่วมกันใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยเพื่อครอบงำกิจการของจำเลย โดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัดได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัดต่อศาลล้มละลายกลาง ต่อมาธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ได้ลงมติให้โจทก์ร่วมเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัด และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งให้วงเงินสินเชื่อแก่จำเลยได้ลดวงเงินสินเชื่อลงจากจำนวน 30,000,000บาท เหลือจำนวนเพียง 20,000,000 บาท แล้วโจทก์พยายามเจรจาขอซื้อหุ้นของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่โดยมีเงื่อนไขให้ควบบริษัทจำเลยเข้าไปด้วย แต่การเจรจาไม่สำเร็จโจทก์จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือแจ้งต่อจำเลยว่าห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า “คลอสเตอร์” และ”KLOSTER” ของโจทก์ นอกจากนี้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ได้สั่งให้โจทก์ร่วมซึ่งได้เข้าเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ลดการจำหน่ายเบียร์คลอสเตอร์และในที่สุดก็หยุดการจำหน่ายเบียร์คลอสเตอร์แก่จำเลย โดยจัดตั้งบริษัทไทยอมฤต ดิสทริบิวชั่น จำกัด ขึ้นทำหน้าที่จัดจำหน่ายเบียร์คลอสเตอร์แทนจำเลยจนทำให้จำเลยต้องหยุดดำเนินกิจการเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายเนื่องจากจำเลยลงทุนดำเนินการด้านการตลาดตลอดมาประมาณ 20 ปี เป็นเงินจำนวนมากและต้องขาดประโยชน์ในอันที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้จนถึงปี 2558นอกจากนี้จำเลยยังเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณกับต้องจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ลูกจ้างของจำเลยเพราะเหตุที่จำเลยหยุดดำเนินกิจการดังกล่าวด้วย รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 10,880,753,144.10บาท จึงขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยและจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเรียกธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กับบริษัทโจทก์ร่วมเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมเพื่อร่วมกับโจทก์รับผิดต่อจำเลยตามคำฟ้องแย้งของจำเลย เห็นได้ว่าตามคำฟ้องแย้งรวมทั้งคำร้องขอของจำเลยที่ขอให้ศาลมีหมายเรียกธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นคู่ความโดยเป็นโจทก์ร่วมเพื่อให้รับผิดตามฟ้องแย้งในคดีนี้ ซึ่งถือเป็นคำฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) ด้วยนั้น จำเลยกล่าวหาว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โจทก์และโจทก์ร่วมได้โต้แย้งสิทธิของจำเลยด้วยการร่วมกันทำละเมิดต่อจำเลยโดยใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 421ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทกันขึ้นว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ได้ร่วมกับโจทก์และโจทก์ร่วมกระทำการต่าง ๆ โดยมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอันถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 ซึ่งเป็นการร่วมกันทำละเมิดต่อจำเลยตามคำฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาได้ความว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับโจทก์และโจทก์ร่วมทำละเมิดต่อจำเลยจริง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ก็ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย จำเลยจึงมีอำนาจฟ้องธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ และลำพังตามคำฟ้องแย้งของจำเลยดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังได้ว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ไม่ได้ทำละเมิดต่อจำเลยอันจะไม่ต้องรับผิดต่อจำเลยโดยแน่ชัดจึงยังไม่ชอบที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะด่วนวินิจฉัยว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)เป็นเพียงเจ้าหนี้เสียงข้างมากของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัดที่หยุดการจำหน่ายเบียร์ให้จำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยได้เพราะยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแน่ชัดว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กระทำละเมิดต่อจำเลยตามที่จำเลยอ้างในคำฟ้องแย้งอย่างใดหรือไม่และเป็นการกระทำซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบหรือเป็นกรณีใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย นอกจากนี้ตามคำฟ้องแย้งของจำเลยกล่าวอ้างว่า ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) กับโจทก์ และโจทก์ร่วมร่วมกันทำละเมิดต่อจำเลยซึ่งเป็นกรณีที่ต้องรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกัน และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็มีคำสั่งรับคำฟ้องแย้งกับมีหมายเรียกให้โจทก์ร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีโดยเป็นโจทก์ร่วมเพื่อพิจารณาว่าโจทก์ร่วมต้องร่วมกับโจทก์รับผิดตามคำฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่แล้วจึงมีเหตุที่สมควรมีหมายเรียกธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)เข้ามาในคดีนี้เพื่อพิจารณารวมกันไปว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ต้องร่วมกับโจทก์และโจทก์ร่วมรับผิดต่อจำเลยในมูลหนี้ละเมิดเดียวกันตามคำฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่เพื่อยังให้เกิดความยุติธรรมแก่คู่ความทุกฝ่ายดังกล่าวพร้อมกันไปในคดีเดียวกันตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เรียกธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตามคำร้องขอของจำเลยนั้นศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้มีหมายเรียกธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตามคำร้องขอของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง