แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การร้องขอให้ศาลแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยในพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 นั้น เมื่อพิจารณาตามเนื้อหาหรือความมุ่งหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคแรก และวรรคสามแล้ว จะเห็นได้ว่าผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลในคดีเดิม มิใช่กรณีที่จะต้องทำเป็นคำร้องขอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 171
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองอุบลราชธานี ซึ่งทำการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2517และประกาศผลเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2517 มีผู้ได้รับเลือก 18 คนปรากฏตามประกาศของเทศบาลเมืองอุบลราชธานี ต่อมานายชัยสิทธิเปรุนาวิน นายเชิดศักดิ์ สถิระศิลปิน และผู้ร้องได้ร้องต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี ขอให้มีคำสั่งว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยมิชอบเป็นโมฆะศาลจังหวัดอุบลราชธานีได้มีคำพิพากษาตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 159 – 160/2518 ให้ยกคำร้องและสั่งว่านายมงคล กรินชัย ผู้ได้รับเลือกตั้งอันดับที่ 18 ได้รับเลือกตั้งโดยมิชอบและถือว่าไม่ได้รับเลือกตั้ง การรวมคะแนนของศาลจังหวัดอุบลราชธานีผิดพลาดไป 3 คน จึงขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขการนับคะแนนที่ผิดพลาดให้ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นไม่รับคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยในประเด็นที่ผู้ร้องฎีกาว่า การร้องขอให้ศาลแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยในคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะร้องเป็นคดีใหม่ได้หรือไม่ว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคสาม บัญญัติว่า เมื่อได้ทำคำสั่งเช่นว่านั้นแล้วห้ามมิให้คัดสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิม เว้นแต่จะได้คัดสำเนาคำสั่งเพิ่มเติมนั้นรวมไปด้วยตามกฎหมายดังกล่าวแสดงว่า การแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยในคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เป็นการทำคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีเดิม ทั้งมาตรา 143 วรรคแรก ก็บัญญัติว่า คำขอให้แก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงนั้น ต้องกล่าวไว้ในฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกาหรือโดยทำเป็นคำร้อง มิใช่กรณีที่จะต้องทำเป็นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 171 ผู้ร้องจึงชอบที่จะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลในคดีเดิม ไม่ใช่มาร้องเป็นคดีใหม่
พิพากษายืน