คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ 3 ครั้ง ตามสัญญา 3 ฉบับ รวม 21 คันโดยชำระเงินในวันทำสัญญาแต่ละฉบับจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือนั้นผ่อนชำระเป็นงวดค่าเช่าซื้อที่จำเลยส่งชำระให้แก่โจทก์นั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ระบุให้ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถคันใดโดยเฉพาะ จึงเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 ซึ่งถ้าลูกหนี้ไม่ได้ระบุว่าชำระหนี้รายใด ก็ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดชำระเงินค่าเช่าซื้อโดยไม่ชำระตรงตามวันและเดือนที่กำหนดไว้มาแต่เริ่มแรกและในระยะหลังๆ ก็ผิดนัดกว่า 2 เดือน ถึง 7 เดือน ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อให้ถือว่าโจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อได้ทันที และจำเลยต้องส่งรถคืนโจทก์ แต่โจทก์ก็ยอมผ่อนผันไม่ติดตามเอารถคืน ยังคงรับเงินจากจำเลยแบ่งเฉลี่ยชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อทั้ง 3 ฉบับ ยิ่งกว่านั้นเมื่อโจทก์ออกใบรับเงินให้จำเลย จำเลยก็มิได้ทักท้วงหรือโต้แย้ง จึงต้องถือว่าการแบ่งเฉลี่ยหนี้ของโจทก์เป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยแล้ว จำเลยจะมาระบุว่าชำระหนี้สินรายใด ให้หนี้สินรายนั้นได้เปลื้องไปอีกหาได้ไม่
จำเลยชำระหนี้ค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลา โจทก์ก็ยอมผ่อนผันให้จำเลยชำระไม่บังคับตามสัญญาทันที ทั้ง ๆที่สัญญาเช่าซื้อกำหนดไว้ว่า เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด หรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันมีผลบังคับทันที บรรดาเงินที่ชำระแล้วให้โจทก์ริบทั้งสิ้น และจำเลยต้องส่งรถคืนแล้วจำเลยก็ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ เมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อเกิน 2 ครั้งแล้วแต่ยังคงครอบครองและใช้รถเหล่านั้นตลอดมา โจทก์จึงได้ติดตามยึดรถคืน แต่หลังจากจำเลยผิดสัญญาแล้ว โจทก์ยังยอมรับชำระเงินจากจำเลยทั้งๆ ที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โดยโจทก์ไม่ใช้สิทธิกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อจึงต้องถือว่าโจทก์ยอมรับเงินจากจำเลยเป็นค่าเสียหายในการที่จำเลยใช้รถที่เช่าซื้อนั่นเอง ดังนี้ โจทก์จะเรียกค่าเสียหายในระหว่างผิดนัดถึงวันที่จำเลยชำระเงินครั้งสุดท้ายซ้ำอีกไม่ได้คงเรียกค่าเสียหายได้ตั้งแต่วันชำระเงินครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่โจทก์กลับเข้าครอบครองรถที่เช่าซื้อนั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ว่าด้วยเช่าซื้อมิได้บัญญัติเรื่องอายุความสำหรับฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ผู้เช่าซื้อผิดสัญญาและยังใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อนั้นอยู่ไว้โดยตรง ผู้ให้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ภายในอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 เพราะมิใช่ค่าเสียหายฐานละเมิด ส่วนการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกให้ผู้เช่าซื้อส่งทรัพย์คืนหากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนนั้น ก็เป็นเรื่องที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเรียกเอาทรัพย์สินคืน ย่อมมีอายุความ 10 ปีเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องใจความว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์รวม 3 ครั้งคือ

1. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2508 จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกกะบะเทท้ายจากโจทก์ไปรวม 6 คัน จำเลยผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 15 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 20 ตุลาคม 2509 เป็นต้นไป

2. เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2509 จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกกะบะเทท้ายจากโจทก์ 5 คัน จำเลยผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 13 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 1มีนาคม 2510 เป็นต้นไปเกิน 2 งวด

3. เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2509 จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกกะบะเทท้ายจากโจทก์ไป 10 คัน จำเลยผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 12 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 15 พฤษภาคม 2510 เป็นต้นไปเกิน 2 งวด

เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อเกิน 2 ครั้งแล้ว แต่ยังคงครอบครองและใช้รถยนต์เหล่านั้นตลอดมา โจทก์จึงได้ติดตามยึดรถคืนมาได้ทั้งหมด ยกเว้นรถคันหมายเลขเครื่อง ยู ดี 3-230991 ที่โจทก์ยังติดตามไม่พบการที่จำเลยผิดนัดและไม่ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่อาจนำรถยนต์เหล่านั้นไปให้ผู้อื่นเช่า ซึ่งโจทก์ควรจะได้ค่าเช่าคันละ 9,000บาท ต่อเดือน รวมจะได้ค่าเช่าสำหรับรถที่ได้คืนแล้วทั้งสิ้น 340,000 บาท เมื่อรวมกับค่าเสียหายรถที่ยังไม่ได้คืน 1 คันอีกเป็นเงิน 30,000 บาท คงเป็นค่าเสียหายรวมทั้งสิ้นถึงวันฟ้องเป็นเงิน 460,000 บาท และโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตามรถคืนจากจำเลยทั้งสิ้นเป็นเงิน 3,200 บาท จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายและค่าติดตามเอารถคืนสำนวนแรกเป็นเงิน 432,240บาท สำนวนหลังเป็นเงิน 30,960 บาท ให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะใช้เงินเสร็จแก่โจทก์ เฉพาะสำนวนแรกให้จำเลยคืนรถยนต์หมายเลขเครื่อง ยู ดี3-230991 ให้แก่โจทก์ ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้เงิน 40,000 บาทแทน กับค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะคืนรถหรือใช้ราคาให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ใช้หรือใช้ไม่ครบ และไม่คืนหรือใช้ราคารถก็ให้จำเลยที่ 2ในแต่ละสำนวนใช้แทนตามส่วนที่ตนค้ำประกันด้วย

จำเลยที่ 1 ทั้งสองสำนวนให้การมีใจความว่า ความจริงจำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์จากโจทก์ 21 คัน โดยผ่อนชำระราคาเป็นงวด ๆ หาใช่ตกลงเช่าซื้อไม่โจทก์ให้จำเลยลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่มีเจตนาจะให้ผูกพันตามสัญญานั้น การที่โจทก์ยึดรถไปจากจำเลยที่ 1 โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ได้ชำระราคารถยนต์ให้โจทก์ถึง 2,550,000 บาท เฉพาะสัญญาฉบับแรกชำระครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์รับชำระเป็นค่ารถยนต์ตามสัญญาฉบับที่ 2 ที่ 3 จึงเป็นเหตุให้สัญญาฉบับแรกค้างชำระงวดสุดท้ายเพียงงวดเดียวโจทก์และจำเลยที่ 1 เคยทำความตกลงเกี่ยวกับเงินค่ารถยนต์ที่ค้างชำระหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายจำเลยยอมคืนรถยนต์ 20 คันให้โจทก์เป็นการหักกลบลบหนี้กันโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย สำหรับรถยนต์คันหมายเลขเครื่องยนต์ ยู ดี 3-230991ได้ชนกับรถยนต์ของผู้อื่นได้รับความเสียหายจนใช้การไม่ได้ตั้งแต่เดือนมกราคม2510 ซึ่งโจทก์ทราบแล้วและไม่ยอมรับรถคืน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าขาดประโยชน์จากรถยนต์คันนี้ อย่างไรก็ดี หากฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อดังฟ้อง โจทก์ก็มีสิทธิเพียงแต่ริบเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระแล้วกับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อเท่านั้น หามีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมีจำนวนสูงเกินกว่าความเป็นจริง คดีของโจทก์ขาดอายุความ

จำเลยที่ 2 ทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธความรับผิดทำนองเดียวกันกับจำเลยที่ 1 และต่อสู้ว่า โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันทราบว่าจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตามสัญญาแต่อย่างใด และมิได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 และคดีขาดอายุความแล้ว

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายตามสำนวนแรก 430,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีคิดจากวันฟ้อง(12 มกราคม 2516) ไปจนกว่าจะใช้เงินเสร็จให้แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 คืนรถยนต์คันหมายเลขเครื่อง ยู ดี 3-230991 แก่โจทก์ ถ้าไม่คืนก็ให้ใช้ราคา 40,000บาทแทน กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายสำหรับรถคันนี้เดือนละ 1,000 บาทนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะคืนหรือใช้ราคารถเสร็จ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ใช้ก็ให้นายวิเชียรจำเลยที่ 2 ใช้แทนจนครบ และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายตามสำนวนหลัง 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีคิดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะใช้เงินเสร็จแก่โจทก์ ถ้าไม่ใช่ก็ให้นายประเทืองจำเลยที่ 2 ใช้แทนจนครบ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทั้งสองสำนวนฎีกา

ศาลชั้นต้นสั่งให้รับฎีกาสำนวนแรก ส่วนสำนวนหลังทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาท จึงให้รับฎีกาเฉพาะข้อกฎหมายเกี่ยวกับอายุความเท่านั้น

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ตามฟ้อง

วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยฎีกาว่า การชำระเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยส่งชำระให้แก่โจทก์มาจนถึงเดือนมกราคม 2511 เป็นเงินทั้งสิ้น 2,606,000 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ระบุให้ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์คันใดโดยเฉพาะการจัดลำดับการชำระหนี้จึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 328 วรรคสอง

ได้พิเคราะห์บทบัญญัติมาตรานี้แล้วเห็นว่า เป็นกรณีที่ลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งโดยมีหนี้สินหลายรายด้วยกัน การชำระหนี้หลายรายนั้นเป็นการอย่างเดียวกัน และการที่ลูกนี้ชำระหนี้นั้นไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกราย ฉะนั้น เมื่อทำการชำระหนี้ ลูกหนี้จึงเป็นผู้ระบุว่าชำระหนี้สินรายใด ก็ให้หนี้สินรายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไป แต่ถ้าลูกหนี้ไม่ได้ระบุว่าชำระหนี้รายใดก็ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ผิดนัดชำระเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์โดยไม่ชำระเงินตรงตามวันและเดือนที่กำหนดไว้มาแต่เริ่มแรก และในระยะหลัง ๆ ก็ผิดนัดกว่า 2 เดือน ถึง 7 เดือน ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 8 ให้ถือว่า โจทก์มีสิทธิริบเงินค่าเช่าซื้อได้ทันที และจำเลยที่ 1 ต้องส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ แต่โจทก์ก็ยอมผ่อนผันไม่ติดตามเอารถยนต์คืนยังคงรับเงินจากจำเลยที่ 1 แบ่งเฉลี่ยชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อทั้ง 3 ฉบับยิ่งกว่านั้นเมื่อโจทก์ออกใบเสร็จรับเงินมอบให้จำเลยที่ 1 จำเลยก็มิได้ทักท้วงหรือโต้แย้งแต่อย่างใด ฉะนั้น จึงต้องถือว่าการแบ่งเฉลี่ยชำระหนี้ของโจทก์เป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยจะมาระบุว่าชำระหนี้สินรายใด ก็ให้หนี้สินรายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปอีกหาได้ไม่ ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยฎีกาว่าการที่โจทก์คิดค่าเสียหายเอากับจำเลยตั้งแต่ที่โจทก์ถือว่าจำเลยผิดนัดตามสัญญาเช่าซื้อเป็นต้นมาจนถึงวันที่โจทก์ยึดรถกลับคืน จำเลยยังส่งเงินชำระให้แก่โจทก์เรื่อยมา เงินที่จำเลยส่งชำระจึงไม่ใช่เงินชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาต่อไปอีก โจทก์จะถือสิทธิริบเงินที่จำเลยชำระต่อจากนั้นหาได้ไม่นั้นศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ แต่การชำระเงินค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาตามสัญญา โจทก์ก็ยอมผ่อนผันให้จำเลยผ่อนชำระไม่บังคับตามสัญญาทันที ทั้ง ๆ สัญญาเช่าซื้อที่โจทก์และจำเลยที่ 1ทำต่อกันนั้น ทุกฉบับซึ่งได้แก่เอกสารหมาย จ.8, จ.10 และ จ.12 กำหนดไว้ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด หรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันมีผลบังคับทันทีโดยไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า บรรดาเงินที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระแล้วทั้งหมดให้ริบเป็นของผู้ให้เช่าซื้อทั้งสิ้น และผู้เช่าซื้อต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนในสภาพเรียบร้อยโดยพลัน ตามข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญาทั้ง 3 ฉบับ เพราะจำเลยเองก็ยอมรับว่าได้ผิดนัดไม่สามารถชำระเงินค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์จริง เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อเกิน 2 ครั้งแล้ว แต่ยังคงครอบครองและใช้รถยนต์เหล่านั้นตลอดมา โจทก์จึงได้ติดตามยึดรถคืนมาได้ทั้งหมด ยกเว้นรถคันหมายเลขเครื่อง ยู ดี 3-230991 ที่โจทก์ยังติดตามไม่พบ แต่หลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ยังยอมรับชำระเงินจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาหมาย จ.8, จ.10 และ จ.12 อีกหลายครั้ง ทั้ง ๆ ที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วโดยโจทก์ไม่ใช้สิทธิกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อ จึงต้องถือว่าโจทก์ยอมรับเงินจากจำเลยเป็นค่าเสียหายในการที่จำเลยที่ 1ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อนั่นเอง ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์จะเรียกค่าเสียหายในระหว่างผิดนัดถึงวันที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินครั้งสุดท้ายซ้ำอีกหาได้ไม่ คงเรียกค่าเสียหายได้ตั้งแต่วันชำระเงินครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่โจทก์กลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

จำเลยฎีกาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์ฟ้องเรียกร้องเอาค่าเสียหายหลังจากที่สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเลิกกันแล้ว อันเป็นค่าเสียหายฐานละเมิดมีอายุความเพียง 1 ปีนั้น ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จำเลยผู้เช่าซื้อผิดสัญญาและได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อของโจทก์ตลอดเวลาที่จำเลยผิดนัดและครอบครองรถของโจทก์อยู่ กับให้จำเลยส่งมอบรถยนต์อีก 1 คันที่ยังมิได้คืนหรือใช้ราคารถคันนั้นแก่โจทก์ด้วย เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3ว่าด้วยเช่าซื้อ มิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยตรง การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ภายในอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เพราะเป็นการเรียกค่าเสียหายในการที่จำเลยยังใช้ทรัพย์ของโจทก์อยู่ มิใช่ค่าเสียหายฐานละเมิดดังที่จำเลยต่อสู้ ส่วนที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกให้จำเลยส่งคืนรถยนต์อีกคันหนึ่ง หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนนั้น เป็นเรื่องที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเรียกเอาทรัพย์สินคืน โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ภายในอายุความ 10 ปี เช่นกัน

พิพากษายืน

Share