คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2962/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจากศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานแล้ว จำเลยได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาจึงไม่รับ จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม มาตรา 228 (3) ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้ดำเนินการต่อไป คำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมถึงที่สุดตามมาตรา 236 วรรคแรก โจทก์ไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้สร้างถังเก็บน้ำและติดตั้งให้เรียบร้อย โจทก์ดำเนินการเสร็จแล้ว ขอให้จำเลยไปรับมอบงานและจ่ายเงินที่ค้าง จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินที่ค้างและค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดใช้เงินที่เหลือแก่โจทก์เพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
หลังจากศาลชั้นต้นชี้สองสถานแล้ว จำเลยได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การโดยอ้างว่าหลังจากศาลชั้นต้นชี้สองสถานแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัด คลังไม้สกลได้แจ้งให้จำเลยแก้ไขรายการก่อสร้างถังเหล็กเก็บน้ำให้ถูกต้องตามสัญญาซึ่งเป็นรายการที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จำเลยจึงได้แจ้งให้โจทก์ทำการแก้ไข แต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยจึงเข้าจัดการเอง เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำร้องที่จำเลยขอแก้คำให้การนี้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๐ และคดีไม่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้องของประชาชน จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลชั้นต้นสั่งว่า อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา จึงไม่รับ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลย เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘ จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามมาตรา ๒๒๘ (๓) ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้ดำเนินการต่อไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอุทธรณ์ของจำเลยว่าจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๘ (๓)ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้ดำเนินการต่อไป คำสั่งของศาลอุทธรณ์จึงถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๖ วรรคแรกโจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา
พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share