คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป. ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัทจำเลยกำหนดชำระเบี้ยประกันปีละ 2 งวด หากไม่ชำระเบี้ยประกันตามกำหนด บริษัทจำเลยจะผ่อนเวลาให้อีก 30 วันโดยไม่คิดดอกเบี้ย ป. ชำระเบี้ยประกันแล้ว 3 งวด งวดที่ 4 ป. ไม่ได้ชำระภายในกำหนดหรือภายในเวลา 30 วันที่ผ่อนผันให้ตามกรมธรรม์ แต่ชำระให้หลังจากระยะเวลาที่ผ่อนผันให้นั้นล่วงเลยไปแล้ว 1 เดือนเศษ ทั้งยังชำระด้วยเช็ค ซึ่งลงวันที่ล่วงหน้าต่อไปอีก 1 เดือนเศษด้วย บริษัทจำเลยก็ยังตกลงรับเบี้ยประกันงวดนั้น ต่อมาในงวดที่ 5 ป. ก็ชำระหลังจากระยะเวลาที่ผ่อนผันให้นั้นล่วงเลยไปแล้วประมาณ 10 วัน และชำระด้วยเช็คซึ่งลงวันที่ล่วงหน้า 1 เดือนเศษโดยชำระแก่ผู้แทนของบริษัทจำเลย เมื่อบริษัทจำเลยทราบก็มิได้ทักท้วงประการใด แม้ตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์จะระบุไว้ว่า ถ้าผู้เอาประกันไม่ชำระเบี้ยประกันภายในเวลาที่ผ่อนให้ กรมธรรม์ย่อมขาดอายุและไม่มีผลบังคับ แต่พฤติการณ์ดังกล่าวของบริษัทจำเลยนั้น เห็นได้ว่าบริษัทจำเลย มิได้ถือปฏิบัติเคร่งครัดตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์การที่บริษัทจำเลยไม่ทักท้วงในการที่ผู้แทนของบริษัทจำเลยรับชำระเบี้ยประกันงวดที่5 ที่ ป. ชำระด้วยเช็คลงวันที่ล่วงหน้าเช่นนี้เท่ากับบริษัทจำเลยยอมสละเงื่อนไขดังกล่าวโดยผ่อนผันให้ ป. ชำระเบี้ยประกันงวดนี้ไปจนถึงวันที่ลงในเช็คกรมธรรม์ประกันชีวิตจึงไม่ขาดอายุและยังมีผลบังคับอยู่ แม้ ป. จะตายก่อนที่เช็คนั้นจะถึงกำหนดชำระก็ไม่ทำให้กรมธรรม์ขาดอายุหรือไม่มีผลบังคับ บริษัทจำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2514 นายประวิทย์ วิบูลย์นรชาติซึ่งเป็นสามีของโจทก์ที่ 1 และเป็นบิดาของโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ไว้กับจำเลย เป็นเงิน 100,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี ในระหว่าง20 ปีหากนายประวิทย์ตาย จำเลยยอมจ่ายเงินผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต 100,000 บาท หากนายประวิทย์วิบูลย์นรชาติ เกิดอุบัติเหตุทำให้ตายภายใน 6 เดือน จำเลยจะจ่ายเงินทดแทนให้อีก 100,000 บาทรวมเป็นเงิน 200,000 บาท นายประวิทย์ได้ชำระเบี้ยประกันครบถ้วนตลอดมาจนถึงวันที่ 8 เมษายน 2516 นายประวิทย์ถูกคนร้ายลอบยิงถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองติดต่อขอรับเงินประกันชีวิต จำเลยปฏิเสธ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้โจทก์ทั้งสอง รวม200,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า นายประวิทย์ชำระเบี้ยประกันให้จำเลยเพียง 3 งวดงวดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2516 นายประวิทย์ไม่ได้ชำระ กรมธรรม์ประกันชีวิตจึงขาดอายุและไม่มีผลบังคับใช้ต่อไปตามเงื่อนไขทั่วไปข้อ 4 ต่อมานายประวิทย์ขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิต ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันชีวิตเอกสิทธิข้อ 2นายประวิทย์จะต้องพิสูจน์ว่าตนเองมีสุขภาพสมบูรณ์ตลอดมาและสมควรที่บริษัทจำเลยจะรับประกันต่อไป แต่นายประวิทย์ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าตนเองมีสุขภาพสมบูรณ์ตลอดมาและมิได้ชำระเบี้ยประกันที่ค้างพร้อมด้วยดอกเบี้ย ฯลฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยอุทธรณ์ว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตไม่มีผลบังคับ เพราะยังไม่ต่ออายุ

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า การตายของนายประวิทย์ วิบูลย์นรชาติ เกิดจากอุบัติเหตุ

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ทางพิจารณาฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นายประวิทย์ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัทจำเลย กำหนดชำระเบี้ยประกันปีละ 2 งวด หากไม่ชำระเบี้ยประกันตามกำหนด บริษัทจำเลยจะผ่อนเวลาให้อีก 30 วัน โดยไม่คิดดอกเบี้ย นายประวิทย์ได้ชำระเบี้ยประกันให้บริษัทจำเลยแล้ว 3 งวด คือ งวดวันที่ 10 สิงหาคม 2514งวดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2515 และงวดวันที่ 10 สิงหาคม 2515 โดยเฉพาะงวดวันที่ 10 สิงหาคม 2515 นายประวิทย์ วิบูลย์นรชาติ ไม่ได้ชำระภายในวันที่ 10สิงหาคม 2515 หรือภายใน 30 วัน ที่บริษัทจำเลยผ่อนผันให้ตามกรมธรรม์ แต่ชำระให้ในเดือนตุลาคม 2515 หลังจากระยะเวลา 30 วันที่บริษัทจำเลยผ่อนผันให้ตามกรมธรรม์ล่วงเลยไปแล้ว 1 เดือนเศษ และชำระด้วยเช็ค ลงวันที่ล่วงหน้าคือ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2515 ปรากฏตามเช็คเอกสารหมาย จ.7 และบริษัทจำเลยออกใบรับให้ตามใบรับเบี้ยประกันเอกสารหมาย จ.3 ส่วนเบี้ยประกันงวดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2516 นายประวิทย์ วิบูลย์นรชาติ ชำระให้เมื่อวันที่ 22มีนาคม 2516 หลังจากระยะเวลาที่บริษัทจำเลยผ่อนผันให้ตามกรมธรรม์ล่วงเลยไปแล้วประมาณ 10 วัน และชำระด้วยเช็คลงวันที่ล่วงหน้า คือ วันที่ 30เมษายน 2516 ปรากฏตามเช็คเอกสารหมาย ล.1 โดยมอบเช็คดังกล่าวให้แก่นายเสมา ถนอมศิลป์ ผู้แทนบริษัทจำเลยประจำสาขาชลบุรี นายเสมา ถนอมศิลป์ออกใบเสร็จรับเงินชั่วคราวให้ตามเอกสารหมาย จ.4 และแจ้งให้บริษัทจำเลยทราบแล้ว ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2516 ก่อนที่เช็คตามเอกสารหมาย ล.1 จะถึงกำหนด นายประวิทย์ถูกคนร้ายลอบยิงจนถึงแก่ความตายแต่บริษัทจำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินตามกรมธรรม์แก่โจทก์ทั้งสองโดยอ้างว่ากรมธรรม์ขาดอายุเพราะนายประวิทย์ วิบูลย์นรชาติ ไม่ชำระเบี้ยประกันภายในกำหนด และบริษัทจำเลยยังไม่ต่ออายุกรมธรรม์ให้ เนื่องจากเช็คตามเอกสารหมาย ล.1 ยังไม่ถึงกำหนดจ่ายเงิน กรมธรรม์ประกันจึงไม่มีผลบังคับ

ศาลฎีกาเห็นว่า แม้เงื่อนไขทั่วไปข้อ 4 แห่งกรมธรรม์ประกันสะสมทรัพย์จะระบุว่า ถ้าผู้เอาประกันไม่ชำระเบี้ยประกันภายในเวลาที่ผ่อนให้ กรมธรรม์ย่อมขาดอายุ และไม่มีผลบังคับ แต่ปรากฏว่าเมื่อนายประวิทย์ไม่ชำระเบี้ยประกันงวดวันที่ 10 สิงหาคม 2515 ภายในเวลาที่ผ่อนให้ และนำเบี้ยประกันมาชำระให้หลังจากเวลาที่ผ่อนให้ล่วงเลยไป 1 เดือนเศษ ทั้งยังชำระโดยเช็คลงวันที่ล่วงหน้าอีก 1 เดือนเศษ บริษัทจำเลยก็ตกลงรับเบี้ยประกันงวดวันที่ 10สิงหาคม 2515 ไว้จากนายประวิทย์ โดยไม่ถือว่ากรมธรรม์ขาดอายุและไม่มีผลบังคับ เมื่อนายประวิทย์ชำระเบี้ยประกันงวดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2516ให้ทางนายเสมาผู้แทนบริษัทจำเลยหลังจากเวลาที่ผ่อนให้ล่วงเลยไปแล้วเมื่อบริษัทจำเลยทราบว่าผู้แทนบริษัทจำเลยรับชำระเบี้ยประกันงวดวันที่ 10กุมภาพันธ์ 2516 บริษัทจำเลยก็ไม่ทักท้วงประการใด พฤติการณ์ดังกล่าวของบริษัทจำเลยจึงเห็นได้ว่าบริษัทจำเลยมิได้ถือปฏิบัติเคร่งครัดว่าถ้าผู้เอาประกันไม่ชำระเบี้ยประกันภายในเวลาที่ผ่อนให้แล้ว กรมธรรม์ย่อมขาดอายุและไม่มีผลบังคับทันทีตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ บริษัทจำเลยจึงรับเบี้ยประกันงวดวันที่ 10 สิงหาคม 2515 และไม่ทักท้วงที่ผู้แทนบริษัทจำเลยรับชำระเบี้ยประกันงวดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2516 ไว้จากนายประวิทย์ ทั้ง ๆ ที่นายประวิทย์ชำระให้หลังจากเวลาที่ผ่อนให้ล่วงเลยไปแล้วโดยไม่ให้นายประวิทย์ดำเนินการขอต่ออายุกรมธรรม์ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันสะสมทรัพย์ การที่บริษัทจำเลยไม่ทักท้วงในการที่ผู้แทนบริษัทจำเลยรับชำระเบี้ยประกันงวดวันที่ 10กุมภาพันธ์ 2516 ที่นายประวิทย์ชำระโดยเช็คลงวันที่ล่วงหน้า คือ วันที่ 30 เมษายน2516 เท่ากับบริษัทจำเลยยอมสละเงื่อนไขดังกล่าวโดยผ่อนผันให้นายประวิทย์ชำระเบี้ยประกันงวดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2516 ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2516กรมธรรม์ประกันสะสมทรัพย์จึงไม่ขาดอายุความและยังมีผลบังคับอยู่ การที่นายประวิทย์ตายก่อนที่เช็คจะถึงกำหนดชำระ ไม่ทำให้กรมธรรม์ดังกล่าวขาดอายุหรือไม่มีผลบังคับ บริษัทจำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์ทั้งสองตามกรมธรรม์ประกันสะสมทรัพย์

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share