คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1569/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ปกปิดความจริงโดยนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงที่ควรแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าภรรยาและญาติของจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ว่าความไว้แล้วเป็นเงิน 10,000 บาท ทำให้จำเลยที่ 1 หลงเข้าใจผิดว่ายังไม่มีสัญญาจ้างว่าความให้ตน จึงยอมทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ว่าความอีกเป็นเงิน 25,000 บาท หากโจทก์บอกความจริง จำเลยที่ 1 ก็คงไม่ยอมทำสัญญาให้อีก ถือว่าเป็นกลฉ้อฉลที่มีสาระสำคัญถึงขนาดสัญญาจ้างว่าความที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ตกเป็นโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 121,124 จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกล้างได้ และเมื่อจำเลยที่ 1 บอกล้างโมฆียะกรรมยังไม่พ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ทราบถูกโจทก์ทำกลฉ้อฉล สัญญาจ้างว่าความดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137, 138 ทำให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันตามสัญญานั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ค่าจ้างว่าความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ศาลจังหวัดลพบุรีพิพากษาจำคุก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินคดีชั้นฎีกาให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 25,000 บาท ชำระให้แล้ว 5,000 บาท ส่วนที่เหลือทำเป็นสัญญาไว้ 2 ฉบับ คือทำเป็นสัญญากู้ 5,000 บาท และเป็นสัญญาจ้างว่าความอีก 15,000 บาท โจทก์ดำเนินคดีชั้นศาลฎีกา จนผลที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์ทวงถามค่าจ้างว่าความ จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ระหว่างที่ต้องคุมขังอยู่ในเรือนจำกลาง โจทก์เข้าไปเยี่ยมและบอกว่าได้จัดการขออ้างพยานเพิ่มเติมและจะช่วยแถลงการณ์ประกอบคดีให้ หากจำเลยหลุดพ้นข้อหาโจทก์ขอค่าจ้าง 15,000 บาท จำเลยอยู่ในสภาพนักโทษจิตใจไม่ปกติ และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงได้เซ็นชื่อในสัญญาให้โจทก์ไปโดยไม่ทราบว่าภรรยาและญาติได้ตกลงว่าจ้างไว้ก่อนแล้ว โจทก์ให้จำเลยทำสัญญาจ้างฉบับหลังขึ้นโดยไม่สุจริตเพราะปกปิดความจริงไม่แจ้งให้จำเลยทราบก่อน ถ้าจำเลยทราบความจริง ก็จะไม่ยอมทำสัญญาจ้างฉบับหลังให้โจทก์ ฉะนั้น สัญญาจ้างฉบับหลังจึงตกเป็นโมฆะ เพราะจำเลยสำคัญผิดโจทก์ไม่สิทธิเอาสัญญาจ้างฉบับเงิน 15,000 บาทมาฟ้องจำเลยเป็นการเอาเปรียบ จำเลยจะยอมชำระเงิน 5,000 บาท ที่ภรรยาและญาตตกลงไว้และค้างอยู่เท่านั้น

จำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 4, ที่ 5 ให้การว่า ตกลงว่าจ้างโจทก์ เป็นเงิน 10,000บาทจริง ได้ชำระไปแล้ว 5,000 บาท ส่วนที่เหลือทำเป็นสัญญากู้ไว้โดยตกลงกับโจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 พ้นข้อหาจะให้จำเลยที่ 1 ชำระแทน ส่วนสัญญาจ้างว่าความ จำเลยมิได้เป็นคู่สัญญาด้วย จำเลยไม่ต้องรับผิด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชำระค่าจ้างว่าความที่ค้าง 5,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างว่าความให้โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 15,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราและระยะเวลาตามฟ้อง

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โดยเหตุผลทำให้ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ว่าจ้างโจทก์ว่าความเป็นเงิน 25,000 บาทดังโจทก์อ้าง แต่ตกลงค่าจ้างกันเพียง 10,000บาทตามที่จำเลยนำสืบ โจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถูกคุมขังอยู่ ณ เรือนจำกลางบางขวาซึ่งอยู่คนละจังหวัด ห่างไกลจากภรรยาและญาติ จึงถือโอกาสเดินทางมาพูดหว่านล้อมขอให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างว่าความให้ ซึ่งอาจได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีก พอดีจำเลยที่ 1 ก็ยอมทำตาม จึงเกิดเอกสารหมาย จ.2 ขึ้น ทั้งนี้โดยปกปิดความจริงไม่บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าภรรยาและญาติได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ว่าความไว้แล้ว เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต เพราะโจทก์นิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้ง ทำให้จำเลยที่ 1 หลงเข้าใจผิดว่ายังไม่มีสัญญาจ้างว่าความให้ตน จึงยอมทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.2 หากโจทก์บอกความจริงว่าได้ทำสัญญาจ้างว่าความกันไว้แล้ว จำเลยที่ 1 ก็คงไม่ยอมทำสัญญาให้ตามเอกสารหมาย จ.2 อีก ดังที่จำเลยนำสืบต่อสู้ไว้การแสดงเจตนาทำสัญญาของจำเลยที่ 1 ครั้นนั้นเกิดขึ้นจากกลฉ้อฉลของโจทก์ และเป็นกลฉ้อฉลที่มีสารสำคัญถึงขนาด เพราะฉะนั้นเอกสารสัญญาตามเอกสาร จ.2 จึงเป็นโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 121, 124 จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกล้างได้ ทั้งจำเลยที่ 1 นำสืบไว้ว่า เมื่อญาติบอกว่าได้ชำระเงินให้โจทก์ไปแล้ว 5,000 บาท กับทำสัญญากู้เงินให้โจทก์อีก 5,000 บาท จำเลยที่ 1 รีบไปหาโจทก์ขอเลิกสัญญาฉบับเงิน 15,000 บาท โจทก์บอกว่าไม่เป็นไรให้เอาเงิน5,000 บาทตามสัญญากู้ไว้มาให้ แสดงว่ามีการบอกล้างสัญญาตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่ง จำเลยที่ 1 ทำไว้ด้วยกลฉ้อฉลของโจทก์แล้ว

มีปัญหาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ได้บอกล้างโมฆียะกรรมภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 เบิกความว่าทราบเรื่องจากญาติว่ามีสัญญาจ้างว่าความกันไว้ภายหลังจากฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เบิกความว่าเคยไปศาลฎีกาในวันนัดแถลงการณ์ พวกพี่น้องคุยกับจำเลยที่ 1 เล่าให้ฟังว่าได้ให้เงินโจทก์ไป 5,000 บาท และทำสัญญากู้เงินให้ไว้อีก 5,000 บาท แสดงว่าจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องเกี่ยวกับพวกญาติทำสัญญาจ้างโจทก์ว่าความให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วแต่วันนัดแถลงการณ์ ปรากฏจากสำนวนคดีอาญาของศาลจังหวัดลพบุรีหมายเลขแดงที่ 191/2514 ว่ามีนัดแถลงการณ์2 ครั้ง คือวันที่ 29 สิงหาคม 2515 และวันที่ 28 กันยายน 2515 คิดหาระยะเวลาจำเลยที่ 1 ทราบว่าถูกโจทก์ทำกลฉ้อฉลตั้งแต่วันนัดแถลงการณ์ครั้งแรกไปจนถึงวันบอกล้าง โดยจำเลยที่ 1 เบิกความว่าไปบอกล้างโมฆียะกรรมแล้วต่อมาโจทก์จึงทำหนังสือทวงเงินตามสัญญาจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เมื่อตรวจดูหนังสือทวงเงินตามเอกสารหมาย ล.1 ปรากฏว่าลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2516นับระยะเวลาจากวันนัดแถลงการณ์ครั้งแรกมาจนถึงวันที่ลงไว้ในหนังสือทวงเงินเป็นเวลา 8 เดือนเศษ ยังไม่พ้นหนึ่งปี จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิสมบูรณ์ในการบอกล้างโมฆียะกรรมได้โดยชอบด้วยกฎหมายและนิติกรรม สัญญาตามเอกสารหมาย จ.2จึงตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 137, 138 ทำให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันตามสัญญาฉบับดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ในจำนวนเงิน15,000 บาท

พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share