คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างจุดไม้ขีดไฟเพื่อสูบบุหรี่ในขณะขนปี๊ปหน่อไม้จากฉางขึ้นรถยนต์ตามคำสั่งของนายจ้าง หัวไม้ขีดที่กำลังติดไฟกระเด็นไปถูกปุยนุ่นและปอในฉางทำให้เกิดไฟไหม้ฉางและลามไปไหม้บ้านราษฎรเสียหายขณะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกำลังมีอยู่ ต้องถือว่าการละเมิดเกิดขึ้นขณะปฏิบัติงานในทางการที่จ้าง ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของลูกจ้างและไม่ไกลเกินกว่าเหตุ นายจ้างต้องรับผิด
กรณีดังกล่าว หากลูกจ้างใช้ความระมัดระวัง โดยพิเคราะห์ดูว่าปุยนุ่นและปอเป็นวัตถุที่ไวต่อการลุกไหม้แล้วเหตุก็จะไม่เกิดขึ้นได้ กรณีจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยหรืออุบัติเหตุอันจะไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย
เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ได้อุทธรณ์ว่าผู้ทำละเมิดมิใช่ลูกจ้างของตนปัญหาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 249 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ขนปี๊บหน่อไม้ในทางการที่จ้าง ระหว่างการขนในฉางของจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 1ได้ขีดไม้ขีดจุดบุหรี่โดยประมาท เป็นเหตุให้หัวไม้ขีดไฟที่ติดกระเด็นไปถูกวัตถุที่มีความไวต่อการลุกไหม้ที่อยู่ในฉาง ทำให้เกิดไฟไหม้อย่างรวดเร็ว ไหม้ฉางของจำเลยที่ 2 แล้วลุกลามไปไหม้บ้านโจทก์เสียหายทั้งสิ้น 162,124 บาท 50 สตางค์ ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำให้เกิดเพลิงไหม้จริง แต่จำเลยที่ 1ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ฉางเป็นของจำเลยที่ 2 แต่นางอี่ แซ่จาง เช่าไปฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ทรัพย์สินที่เสียหายราคาไม่ถึงตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ 70,000 บาท ให้เสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ขนปี๊บหน่อไม้จากฉางของจำเลยที่ 2 บรรทุกรถยนต์ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้จุดไม้ขีดไฟจุดบุหรี่ หัวไม้ขีดไฟที่กำลังติดไฟกระเด็นไปถูกปุยนุ่นและปอในฉาง ทำให้เกิดเพลิงไหม้ฉางแล้วลุกลามไปไหม้บ้านโจทก์และบ้านราษฎรใกล้เคียง รวม 9 หลัง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทในระหว่างขนปี๊บหน่อไม้ตามคำสั่งจำเลยที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างกำลังมีอยู่ขณะการละเมิดเกิดขึ้น จึงต้องถือว่าการละเมิดเกิดขึ้นขณะจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของลูกจ้างและไม่ไกลเกินกว่าเหตุ จำเลยที่ 2 จะปฏิเสธว่าไม่ได้จ้างจำเลยที่ 1 มาจุดไม้ขีดไฟจุดบุหรี่หาได้ไม่ เพราะถ้าจำเลยที่ 2 ไม่จ้างจำเลยที่ 1 หรือไปจ้างบุคคลอื่นที่ไม่สูบบุหรี่ การละเมิดหรือความเสียหายก็จะไม่เกิดขึ้น การเลือกลูกจ้างที่มีคุณสมบัติไม่ดีพอ ไม่เป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดของนายจ้างได้เลย และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่ากรณีเช่นนี้ควรถือเป็นอุบัติเหตุหรือว่าเหตุสุดวิสัย ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า กรณีเช่นนี้หากจำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวัง โดยพิเคราะห์ดูว่าปุยนุ่นและปอเป็นวัตถุไวต่อการลุกไหม้แล้ว เหตุก็จะไม่เกิดขึ้นได้ กรณีจึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยหรืออุบัติเหตุอันจำเลยจะไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกามาด้วย เป็นเชิงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่าจำเลยที่ 2 จะฎีกาในข้อนี้ไม่ได้ เพราะมิได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามมาตรา 249 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษายืน

Share