คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2612/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ไม่เก็บรักษาเอกสารใบกำกับภาษีซื้อไว้เป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87/3 ต้องเสียเบี้ยปรับร้อยละสองของจำนวนภาษีที่นำมาเครดิตตามมาตรา 89(9) และการที่โจทก์ไม่สามารถนำหลักฐานใบกำกับภาษีซื้อหรือใบแทนใบกำกับภาษีซื้อมาแสดงให้เห็นว่ามีการชำระภาษีซื้อ ซึ่งต้องห้ามมิให้นำมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/5(1) แต่โจทก์นำภาษีซื้อมาหักในการคำนวณภาษีเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป จึงต้องเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไปตามมาตรา 89(4) ด้วย เพราะเป็นความผิดที่แยกจากกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนมีนาคม 2537 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2540 และเสียภาษีให้จำเลยที่ 1 ถูกต้อง ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน54,184,089 บาท โจทก์จึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้น54,184,089 บาท เพราะโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มครบถ้วนถูกต้อง โจทก์สามารถแสดงสำเนาใบกำกับภาษีขายตั้งแต่เดือนเมษายน 2537 ถึงเดือนมีนาคม 2540พร้อมหลักฐานอื่น ๆ เพื่อการคำนวณภาษีหรือการเครดิตภาษีส่งมอบให้จำเลยประกอบการพิจารณาแล้ว สามารถใช้เป็นหลักฐานเพื่อพิสูจน์ถึงภาษีซื้อที่โจทก์นำมาคำนวณภาษี หรือเครดิตภาษีได้เมื่อโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไว้ถูกต้องไม่มีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายหรือจำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป การที่จำเลยประเมินและมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ต้องชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4)(9) และให้โจทก์เสียเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และหมายเลข 5 เสียทั้งหมด

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1)เลขที่ 02009320/5/101719 ถึง 101762 ลงวันที่ 14 กันยายน2541 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.2 (อธ.31)/8/17/42 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2542 โดยให้โจทก์รับผิดเสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(4) คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์จะต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับในอัตราร้อยละสองของจำนวนภาษีซื้อที่นำมาเครดิตในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรมาตรา 89(9) ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่คู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์ไม่สามารถนำหลักฐานใบกำกับภาษีซื้อหรือใบแทนใบกำกับภาษีซื้อเดือนภาษีมีนาคม 2537 ถึงเดือนภาษีพฤศจิกายน 2540 มาแสดงต่อศาลได้เพราะเอกสารสูญหายระหว่างการขนย้ายและการซ่อมแซมสำนักงานของโจทก์เมื่อศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยไว้แล้วว่าข้ออ้างของโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และโจทก์ไม่อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ดังนั้นการที่โจทก์ไม่เก็บรักษาเอกสารใบกำกับภาษีซื้อไว้ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87/3 โจทก์จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับร้อยละสองของจำนวนภาษีที่นำมาเครดิตตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(9) การที่โจทก์ไม่สามารถนำหลักฐานใบกำกับภาษีซื้อหรือใบแทนใบกำกับภาษีซื้อเดือนภาษีพิพาทมาแสดงให้เห็นว่ามีการชำระภาษีซื้อ ภาษีซื้อดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้นำมาหักในการคำนวณภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5(1)เมื่อโจทก์นำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักในการคำนวณภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไปโจทก์ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไปตามมาตรา 89(4) อันเป็นความผิดที่แยกต่างหากจากกรณีมิได้เก็บใบกำกับภาษีซื้อที่ใช้เครดิตภาษีในการคำนวณภาษีไว้ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น โจทก์จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกร้อยละสองของจำนวนภาษีที่นำมาเครดิตตามมาตรา 89(9)อีกด้วย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์

Share