คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดจะเป็นเหตุในลักษณะคดีหรือไม่ต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป ข้อเท็จจริงใดที่รับฟังต้องฟังถึงจำเลยคนอื่นเช่นเดียวกัน ย่อมเป็นเหตุในลักษณะคดีเมื่อคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6แยกกันเป็นคนละส่วนและมีข้อที่แตกต่างกันรวมทั้งพยานอื่นที่เกี่ยวข้องกับจำเลยด้วย พยานหลักฐานที่จะใช้วินิจฉัยความผิดของจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์จึงแตกต่างไปจากจำเลยที่ 6มิใช่พยานชุดเดียวกันทั้งหมด จึงไม่เป็นเหตุในลักษณะคดีศาลอุทธรณ์พิพากษาให้มีผลยกฟ้องไปถึงจำเลยที่ 6ที่มิได้อุทธรณ์ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกกับพวก 2 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันปล้นทรัพย์สร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท 1 เส้น ราคา 9,000บาท จี้เลี่ยมทอง 1 อัน ราคา 1,000 บาท วิทยุติดตามตัว 1 เครื่องราคา 4,500 บาท ของนางสาวจันทร์เจ้า บุญพูล ผู้เสียหายที่ 1และสร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง 1 เส้น ราคา 2,500 บาทของนางสาวนพมาศ พลภักดี ผู้เสียหายที่ 2 ไป โดยในการปล้นทรัพย์จำเลยทั้งหกกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืน มีด และไม้เป็นอาวุธ จี้ขู่เข็ญ บังคับว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายทั้งสองกับพวกหากขัดขืน เพื่อสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ และร่วมกันใช้รถยนต์กระบะ 1 คัน เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นการจับกุมขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340, 340ตรี และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จี้เลี่ยมทองราคา 1,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 กับนับโทษของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6ในคดีนี้ต่อจากโจทก์ของจำเลยที่ 2 ที่ 1 ที่ 4 และที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2807/2540 ของศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จจำเลยที่ 1 ขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพ

จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 4ที่ 5 และที่ 6 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 3ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 340 วรรคสอง,340 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุกคนละ 24 ปี จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาหลังจากที่โจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอย่างมาก มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามลดโทษให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 คนละหนึ่งในสี่ และลดโทษให้จำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จำเลยที่ 1 คงจำคุก 16 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5และที่ 6 คงจำคุกคนละ 18 ปี และจำเลยที่ 3 คงจำคุก 12 ปีให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนจี้เลี่ยมทองตามฟ้องแก่ผู้เสียหายที่ 1หรือใช้ราคาทรัพย์ 1,000 บาท ส่วนคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกที่ 3 ถึงที่ 6 ในคดีนี้ต่อนั้น ปรากฏว่าคดีดังกล่าวยังไม่ได้พิพากษาไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้

จำเลยที่ 5 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 83 จำเลยที่ 5ยื่นอุทธรณ์เพียงคนเดียว จำเลยอื่นไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 5 และเห็นว่าพยานโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นไปในทำนองเดียวกันไม่อาจแยกรับฟังได้เป็นเหตุในลักษณะคดีจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 6 ด้วย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าจำเลยที่ 5 ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่จำเลยที่ 5 ถูกฟ้องมีอัตราโทษขั้นต่ำให้จำคุกเกินกว่าห้าปีขึ้นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง จำเลยที่ 5 นอกจากจะให้การปฏิเสธแล้ว ตามทางนำสืบโจทก์ไม่มีพยานปากใดยืนยันว่า จำเลยที่ 5 ร่วมกระทำความผิดคงมีแต่คำรับสารภาพในชั้นจับกุมตามเอกสารหมาย จ.15 และคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.23 ซึ่งเป็นพยานบอกเล่า แม้จะรับฟังเป็นพยานได้แต่ก็มีน้ำหนักน้อยเมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่จะนำมารับฟังประกอบกับคำรับสารภาพให้เชื่อว่าจำเลยที่ 5 กระทำความผิดจริงย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 5 ได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปมีว่า มีเหตุในลักษณะคดีที่จะพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 6 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วยหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดจะเป็นเหตุในลักษณะคดีหรือไม่ต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป ข้อเท็จจริงใดที่รับฟังต้องฟังถึงจำเลยคนอื่นเช่นเดียวกัน ย่อมเป็นเหตุในลักษณะคดี สำหรับคดีนี้พยานหลักฐานที่ใช้วินิจฉัยจำเลยที่ 5 แตกต่างจากจำเลยที่ 6คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองแยกกันเป็นคนละส่วนและมีข้อที่แตกต่างกัน รวมทั้งพยานอื่นที่เกี่ยวข้องกับจำเลยด้วยเช่นผู้เสียหายทั้งสองเบิกความว่า รถยนต์ตามภาพถ่ายหมาย จ.3และ จ.8 เป็นรถยนต์ที่ใช้ในการปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 6 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.24 ว่า จำเลยที่ 6เป็นผู้เช่ามาจากร้าน กม.3 รถเช่า ค่าเช่าวันละ 1,200 บาท จำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกค่าเช่า และโจทก์ยังส่งคำให้การชั้นสอบสวนของนางสาวเปรมฤทัย ยอดแสงจันทร์ ตามเอกสารหมาย จ.11สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่คนร้ายใช้ในการปล้นทรัพย์ตามเอกสารหมายจ.10 และสัญญาเช่ารถยนต์ในระหว่างเกิดเหตุมีจำเลยที่ 6 เป็นผู้เช่าตามเอกสารหมาย จ.13 ประกอบคำแถลงรับข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 6 อีกด้วย ดังนั้นพยานหลักฐานที่จะใช้วินิจฉัยความผิดของจำเลยที่ 5 จึงแตกต่างไปจากจำเลยที่ 6 มิใช่พยานชุดเดียวกันทั้งหมดจึงไม่เป็นเหตุในลักษณะคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 6 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรีประกอบด้วยมาตรา 83 เมื่อลงโทษและลดโทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วคงจำคุก 18 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share