คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1556/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การพิจารณาคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งต้องถือโทษที่ศาลลงโทษแก่จำเลยเป็นรายกระทงไป ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า ในคดีฉ้อโกงในอีกคดีหนึ่ง ศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องจำเลยเพราะเห็นว่าไม่เป็นความผิด คดีนี้จำเลยจึงไม่มีความผิดทางอาญาเพราะเป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน รวมทั้งการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นเป็นฎีกาที่ประสงค์จะให้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ว่าข้อเท็จจริงในคดีฉ้อโกงถือเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีนี้หรือไม่ และการกระทำของจำเลยจะเป็นการใส่ความอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ซึ่งเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยเป็นยุติแล้ว เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประกอบอาชีพค้าขายดำเนินธุรกิจหมู่บ้านจัดสรร เมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2535 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน จำเลยพูดดูหมิ่น หมิ่นประมาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ซึ่งเป็นองค์รัชทายาทต่อนายชัยณรงค์รักษาเกียรติว่า จำเลยจะไปเป็นที่ปรึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ภายในสำนักงานของจำเลยจะขยายให้ใหญ่เพื่อใช้เป็นที่ต้อนรับพระองค์ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น ความจริงจำเลยมิได้เป็นที่ปรึกษาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ อีกทั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็ไม่เคยรู้จักจำเลย จำเลยพูดกล่าวอ้างเพื่อให้นายชัยณรงค์และบุคคลอื่นเชื่อถือในธุรกิจการค้าและเกรงกลัวไม่กล้าทวงถามหนี้สินที่จำเลยค้างชำระ ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะทำให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสื่อมเสียพระเกียรติยศถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพสักการะ เมื่อประมาณกลางเดือนธันวาคม 2538วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน จำเลยพูดดูหมิ่น หมิ่นประมาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ต่อนางอำภา ปรีเจริญ ว่าจำเลยเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จำเลยจะสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ภายในบริเวณบ้านของจำเลยเพื่อให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ นำเครื่องลงจอดที่ลานดังกล่าวซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยมิได้เป็นที่ปรึกษาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จำเลยกล่าวอ้างเพื่อให้นางอำภาและบุคคลอื่น ๆ เชื่อถือในธุรกิจการค้าและเกรงกลัวไม่กล้าทวงถามหนี้สิน ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพสักการะ เมื่อประมาณกลางเดือนเมษายน 2539 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน จำเลยพูดดูหมิ่นหมิ่นประมาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ต่อนางพรเพ็ญประทุมทัย พนักงานฝ่ายบัญชีของจำเลยว่าหากมีลูกค้าของจำเลยมาติดต่อทวงถามเกี่ยวกับการซื้อบ้านและที่ดินในโครงการหมู่บ้านจัดสรรของจำเลย ก็ให้บอกกับลูกค้าว่าเป็นโครงการของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จำเลยทำเพื่อถวายท่าน จะทวงถามไม่ได้ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงโครงการดังกล่าวมิได้เป็นโครงการของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ แต่อย่างใด อีกทั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็ไม่เคยรู้จักกับจำเลยและจำเลยยังพูดกับนางพรเพ็ญอีกว่าในอนาคตข้างหน้าจำเลยจะไปเป็นที่ปรึกษาและเป็นผู้สำเร็จราชการของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ อันเป็นการนำองค์รัชทายาทมากล่าวอ้างเพื่อทำให้นางพรเพ็ญ และประชาชนทั่วไปเกิดความเกรงกลัวจำเลยไม่กล้าทวงถามหนี้ที่จำเลยค้างชำระ ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพสักการะ และเมื่อประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2539 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวันจำเลยพูดดูหมิ่น หมิ่นประมาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ต่อนางสาวสุรีรัตน์ แซ่ฉั่ว และนายสมบุญ ฉัตรชลอลักษณ์ ว่าจำเลยเป็นที่ปรึกษาและเป็นคนสนิทของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และจำเลยจะสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ไว้สำหรับเสด็จมาที่บ้านของจำเลยทางเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นเท็จ ความจริงจำเลยไม่ได้เป็นที่ปรึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จำเลยกล่าวอ้างดังกล่าวเพื่อให้นางสาวสุรีรัตน์และนายสมบุญมีความเชื่อถือและเกรงกลัวไม่กล้าทวงถามหนี้ที่ค้างชำระ ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะทำให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสื่อมเสียพระเกียรติยศถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพสักการะ เหตุเกิดที่ตำบลตลาดขวัญ และที่ตำบลบางศรีเมืองอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 112 และนับโทษต่อกับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8318/2538 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1099/2539 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 716/2540ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 4 กระทง รวมจำคุก 12 ปีข้อที่ขอให้นับโทษต่อกับโทษของจำเลยในคดีอื่นนั้น ให้ยกเพราะจำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้ว

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลล่างว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91แต่ละกระทงลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง เพราะการที่จะพิจารณาว่าคดีใดต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องถือโทษที่ศาลลงแก่จำเลยเป็นรายกระทงไป เมื่อพิเคราะห์ฎีกาของจำเลยแล้วเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่าพยานโจทก์เบิกความไม่น่าเชื่อถือ ขัดแย้งกันเป็นพิรุธและไม่มีพยานอื่นมาแสดงให้ชัดเจนว่า จำเลยมีพฤติการณ์เช่นนั้นจริงโดยปราศจากข้อสงสัย ตลอดจนจำเลยไม่มีมูลเหตุจูงใจที่จะกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์นั้นล้วนเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ศาลก็ไม่อาจรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาได้ ส่วนฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า ในคดีฉ้อโกงศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องจำเลย เพราะเห็นว่า ไม่เป็นความผิดคดีนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดทางอาญาเพราะเป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน รวมทั้งการกระทำที่โจทก์อ้างว่า จำเลยได้กระทำผิด ไม่เป็นข้อความที่ถือว่าเป็นการใส่ความจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ไม่ได้นั้น เห็นว่า ฎีกาจำเลยประสงค์จะให้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ว่า ข้อเท็จจริงในคดีฉ้อโกงจะถือว่าเป็นเรื่องเดียวกับคดีนี้หรือไม่ และการกระทำของจำเลยจะเป็นการใส่ความอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ซึ่งเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยเป็นยุติแล้ว เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง เช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมานั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share