คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3065/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดอันยอมความได้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องอัยการโจทก์ฎีกา ก่อนส่งสำนวนไปศาลฎีกา ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลฎีกา ศาลฎีกาสั่งจำหน่ายคดี

ย่อยาว

“ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า บทกฎหมายที่ใช้ลงโทษจำเลยได้คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 แต่โจทก์กลับขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เงิน พ.ศ. 2477 มาตรา 3 ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวหามีไม่ กรณีเช่นนี้จะถือเป็นการอ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดมิได้ คำฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 148(6) พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ก่อนศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาพิพากษานางสาวสุมาลี ประธานกุล ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่า ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยต่อไป ขอถอนคำร้องทุกข์ จำเลยรับสำเนาแล้วไม่คัดค้าน

ศาลชั้นต้นสั่งว่า อนุญาตให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความฎีกา

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจไปสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลฎีกา ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้น แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนและคำร้องไปให้ศาลฎีกาพิจารณาพิพากษา

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนและคำร้องไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณา

ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนและคำร้องมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว เห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยไม่คัดค้าน สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)

จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ”

Share