คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2586/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทำสัญญากันว่า จำเลยรับจัดหาสัตว์ส่งมาให้โจทก์รับจ้างฆ่าที่โรงงานฆ่าสัตว์ของโจทก์ โดยโจทก์จำเลยรับรองกันในสัญญาว่า ถ้ารายได้ของโจทก์จากการรับจ้างฆ่าสัตว์ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายของโจทก์เกี่ยวกับการฆ่าสัตว์ ยังคงขาดเป็นเงินเท่าใดจำเลยที่ 1 รับชดใช้ให้ทุกเดือนไปจนกว่าโจทก์จะได้รับเงินค่ารับจ้างฆ่าสัตว์คุ้มกับค่าใช้จ่ายดังกล่าว ข้อสัญญาดังกล่าวนี้มิใช่กำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่จำเลยตกลงให้ประโยชน์แก่โจทก์โดยมีเงื่อนไขเนื่องจากการที่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญากับโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายของโจทก์ส่วนที่ยังขาดอยู่เต็มจำนวน

ย่อยาว

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญากับโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 รับเป็นผู้จัดหาสัตว์คือสุกร โคและกระบือส่งมาให้โจทก์รับจ้างฆ่าที่โรงงานฆ่าสัตว์ของโจทก์ เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้นำเนื้อสัตว์ที่ฆ่าแล้วไปจำหน่าย ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญากันใหม่ใช้บังคับต่อกันแทนสัญญาฉบับเดิม ตามสัญญาฉบับหลัง จำเลยที่ 1 จะต้องจัดส่งสัตว์มาให้โจทก์รับจ้างฆ่ามีจำนวนไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา แล้วจำเลยที่ 1 ส่งสัตว์ให้โจทก์รับจ้างฆ่าขาดจำนวน ต้องเสียค่าปรับให้โจทก์คิดเป็นเงิน 2,322,100 บาท จำเลยที่ 1 ตกลงด้วยว่าค่าใช้จ่ายของโจทก์ เกี่ยวกับการฆ่าสัตว์เป็นเงินเดือนละ 1,280,000 บาท ถ้ารายได้จากการรับจ้างฆ่าสัตว์ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายดังกล่าวแล้ว ยังขาดเป็นเงินเท่าใด จำเลยที่ 1 รับชดใช้ให้แก่โจทก์ทุกเดือน จำเลยที่ 1 ส่งสัตว์ให้โจทก์รับจ้างฆ่าไม่ครบจำนวน ทำให้โจทก์มีรายได้จากการรับจ้างฆ่าสัตว์ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย โดยขาดไปคิดเป็นเงิน 774,478บาท 60 สตางค์ รวมเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระแก่โจทก์เป็นเงิน 3,096,478บาท 60 สตางค์ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า นายสมศักดิ์ เภกะสุต และนายพันธ์ไชยนันท์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนหรือในนามของโจทก์ บริษัทโจทก์ได้เป็นผู้ผูกขาดการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสุกร โคและกระบือในเขตจังหวัดพระนครและธนบุรีมานานปี พ.ศ. 2511 บริษัทโจทก์ต้องขาดทุนมาก จึงขอร้องให้จำเลยที่ 1 จัดหาสุกร โคและกระบือเข้าฆ่าในโรงงานฆ่าสัตว์ของโจทก์ และได้ให้คำมั่นสัญญาและรับรองกับจำเลยที่ 1 ว่า การจัดหาสุกร โคและกระบือเข้าฆ่าที่โรงงานฆ่าสัตว์ของโจทก์ตลอดจนวิธีการในการจัดหน่ายเนื้อชำแหละนั้น โจทก์จะได้จัดให้เป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 หลงเชื่อจึงได้ทำสัญญากับโจทก์ ต่อมาโจทก์ขอเพิ่มเติมสัญญา และได้แก้ไขสัญญาใหม่ในข้อต่อไปให้เป็นว่า ในวันใดจำเลยที่ 1 จัดส่งสัตว์มาให้โจทก์ฆ่าได้ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ก็ให้หักจำนวนสัตว์ที่ผู้อื่นส่งมาฆ่าคิดชดเชยให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ข้อตกลงได้ทำเป็นหนังสือผนวกเข้ากับสัญญาฉบับแรก เริ่มปฏิบัติตั้งแต่ 12กันยายน 2512 ต่อมาโจทก์ไม่อำนวยความสะดวกให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงได้ประท้วงโจทก์รับรองว่าจะจัดการให้จำเลยที่ 1 ใหม่ แต่ก็ไม่ได้รับความสะดวกจนจำเลยที่ 1 เสียหาย ทั้งโจทก์ให้คนอื่นได้โควต้ากระบือและโค ซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญที่โจทก์ปกปิดไม่ให้จำเลยที่ 1 ทราบ ซึ่งถ้าโจทก์เปิดเผยสัญญาทั้งหมดย่อมไม่เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 จึงคัดค้าน โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงได้ทำบันทึกปรับความเข้าใจกันหลายประการ โดยโจทก์จะแจ้งยอดสัตว์ที่บุคคลอื่นนำเข้าฆ่าให้จำเลยที่ 1 ทราบด้วย ให้เริ่มปฏิบัติตามสัญญากันใหม่ตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2512 โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายค่าปรับย้อนขึ้นไปถึงวันที่ 12 กันยายน2512 ไม่ได้ ต่อจากนั้นเหตุการณ์ก็เป็นไปตามเดิม โจทก์ไม่สามารถจัดการให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาได้ จำเลยที่ 1 จึงได้มีหนังสือบอกล้างนิติกรรมและบอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้ว สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นนิติกรรมมีเงื่อนไขซึ่งจะปฏิบัติกันได้หรือไม่สุดแล้วแต่โจทก์ฝ่ายเดียว จึงเป็นโมฆะ และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย หากมีการขาดจำนวนก็มิได้ขาดถึงจำนวนตามฟ้อง ถ้านิติกรรมมีผลบังคับกันได้ จำนวนค่าใช้จ่ายก็ไม่ขาดถึงจำนวนตามฟ้อง เมื่อโจทก์เรียกค่าปรับตามสัญญาแล้วความเสียหายของโจทก์ในข้ออื่นก็หมดไป โจทก์เป็นฝ่ายฉ้อฉลจำเลยที่ 1 และมิได้ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยที่ 1ต้องจัดซื้อสัตว์ไว้เพื่อปฏิบัติตามสัญญา ต้องเสียค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ยเป็นเงิน8,946,092 บาท 53 สตางค์ จำเลยที่ 1 ขายสัตว์ไปได้เพียง 6,023,941 บาท21 สตางค์ ต้องขาดทุนไป 2,922,151 บาท 32 สตางค์ และต้องขาดผลกำไรที่ควรได้อีก 2,915,750 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องเสียหายไปเพราะโจทก์ผิดสัญญาเป็นเงิน 5,837,901 บาท 32 สตางค์ ขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้โจทก์ใช้เงินค่าเสียหายจำนวน 5,837,901 บาท32 สตางค์

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและเพิ่มเติมคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุม จำเลยใช้สิทธิฟ้องแย้งโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา หากจำเลยได้รับความเสียหายจริง ความเสียหายก็เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยเอง โจทก์ไม่ต้องรับผิด

สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับจ้างฆ่าสัตว์ โดยเฉพาะโค กระบือจะมีมัน หนัง หัว เนื้อห้อยลิ้น เอ็น เรียกว่าผลพลอยได้ซึ่งเป็นประเพณีการค้าที่โรงงานฆ่าสัตว์จะรับซื้อไว้ โจทก์ได้จัดส่งโคและกระบือไปจ้างจำเลยฆ่าและชำแหละมีผลพลอยได้ต่าง ๆ รวมราคา 455,357 บาท 30 สตางค์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงิน จำเลยก็ไม่ชำระ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระพร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า จำนวนเงิน น้ำหนักและราคาผลพลอยได้ที่จำเลยรับซื้อจากโจทก์ไม่ถูกต้อง และโจทก์ค้างไม่เกิน 100,000 บาท ได้หักเงินกับค่าจ้างฆ่าสัตว์ ค่าเช่าคอกพักสุกร ค่าเช่าสถานที่ และบอกโจทก์แล้วว่าจะจ่ายค่าผลพลอยได้ต่อเมื่อโจทก์ชำระค่าปรับและค่าใช้จ่ายเรียบร้อย โจทก์ไม่เคยทวงถามและขอรับเงินจำนวนนี้ เมื่อทวงถามยอดเงินก็ไม่ถูกต้อง จำเลยจึงไม่ผิดนัดไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นได้รวมพิจารณาพิพากษาคดี เรียกบริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ว่าโจทก์และเรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด เจริญธัญญวัฒน์ว่าจำเลยที่ 1 นายสุรินทร์ดุลยธรรมภักดี ว่าจำเลยที่ 2

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เกี่ยวกับค่าเสียหายของโจทก์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยไม่สามารถจะปฏิบัติตามสัญญาได้นั้น มิใช่เป็นความผิดของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว โจทก์ได้มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยด้วย เห็นสมควรลดค่าปรับที่จำเลยส่งสุกรเข้าฆ่าขาดไปตัวละ 25 บาท สุกรขาดจำนวนไป 23,221ตัว เป็นเงินค่าปรับ 582,525 บาท ส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของโจทก์ซึ่งขาดรายได้ไป 3 เดือนคิดเป็นเงินค่าใช้จ่าย ซึ่งขาดจำนวนไปเป็นเงิน 1,280,000บาท เห็นว่าเมื่อจำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์แล้ว จำเลยไม่สามารถจะส่งสัตว์เข้าฆ่าได้ครบจำนวนและไม่ได้รับความสะดวกจากโจทก์ตามสมควร ได้มีการประท้วงและคัดค้านการกระทำของเจ้าหน้าที่โจทก์ที่กีดกันจำเลยจนต้องมีบันทึกปรับความเข้าใจกันหลายครั้ง การที่จะปรับจำเลยตามสัญญาย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลยอย่างยิ่ง จึงน่าจะถือว่าทั้งโจทก์และจำเลยได้มาร่วมกันรับบาปกับเคราะห์ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดทุนค่าใช้จ่ายของโรงงานฆ่าสัตว์โจทก์นั้น โจทก์จำเลยควรจะรับผิดกันคนละครึ่ง ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดเป็นจำนวนเงิน 640,000 บาท รวมสองรายการเป็นเงิน 1,222,525 บาท โจทก์ยังมิได้ชำระค่าผลพลอยได้จากการชำแหละซากสัตว์ให้แก่จำเลย 450,000 บาท เมื่อหักหนี้กันแล้ว จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง 772,525 บาท จึงพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน772,525 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สำหรับค่าเสียหายของโจทก์นั้น ได้มีการกำหนดเบี้ยปรับไว้ 2 กรณีคือ เบี้ยปรับเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของบริษัทโจทก์และเบี้ยปรับตามจำนวนสุกรที่ส่งฆ่าไม่ครบ เฉพาะค่าใช้จ่ายของบริษัทโจทก์ บริษัทโจทก์ควรได้รับชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวนที่ขาดไปเป็นเงิน 774,478 บาท 60 สตางค์ ส่วนเบี้ยปรับตามจำนวนที่ส่งฆ่าไม่ครบนั้น เมื่อบริษัทโจทก์ได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนแล้ว บริษัทโจทก์ก็ไม่ควรได้รับความเสียหายใด ๆ อีกจากการส่งสุกรฆ่าไม่ครบจำนวน บริษัทโจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายในข้อนี้ ส่วนความเสียหายของจำเลยตามฟ้องแย้งนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของโจทก์ แต่เกิดจากที่จำเลยไม่สามารถส่งสัตว์ฆ่าให้ครบได้เอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ บริษัทโจทก์เป็นหนี้จำเลยค่าผลพลอยได้จากการชำแหละซากสัตว์เป็นเงิน 450,000 บาท เมื่อหักออกจากจำนวนเงิน 774,478 บาท60 สตางค์ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว คงเหลือเงินที่จำเลยต้องชำระให้บริษัทโจทก์ 325,478 บาท 60 สตางค์ พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยร่วมกันใช้เงิน 324,478 บาท 60 สตางค์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง คือวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2513 จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์ฎีกาขอให้พิพากษาให้จำเลยเสียค่าปรับสำหรับสุกรที่ส่งให้โจทก์ฆ่าไม่ครบจำนวนตัวละ 25 บาทตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมดและพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้จำเลยตามฟ้องแย้ง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นข้อ 4 โจทก์จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้เพียงใด โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายของบริษัทโจทก์ที่ขาดจำนวนไปจนครบนั้น เป็นเพียงการปฏิบัติตามสัญญาส่วนหนึ่ง เพื่อมิให้โจทก์ต้องขาดทุนในการทำสัญญากับจำเลยเท่านั้น โจทก์ประกอบการค้าย่อมหวังผลกำไรจากการรับจ้างฆ่าสัตว์ การที่จำเลยส่งสัตว์ให้โจทก์ฆ่าไม่ครบจำนวน โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเพราะมิได้รับจ้างฆ่าซึ่งเป็นค่าเสียหายอีกส่วนหนึ่ง ส่วนจำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ควรได้รับค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของบริษัทโจทก์ที่ขาดจำนวนไปเพราะโจทก์ขาดทุนอยู่แล้ว ก่อนจำเลยที่ 1 เข้ามาทำสัญญากับโจทก์ บริษัทโจทก์ถือหุ้น 99.92 เปอร์เซ็นต์ เป็นบริษัทมหาชนหรือเป็นเทศกิจ ซึ่งตั้งขึ้นโดยมิได้หวังค้ากำไร พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าตามสัญญากำหนดค่าเสียหายที่โจทก์จะได้รับไว้ 2 ประการ คือประการแรกโจทก์และจำเลยที่ 1 รับรองกันไว้ในสัญญาว่าค่าใช้จ่ายของโจทก์เกี่ยวกับการฆ่าสัตว์ตกประมาณเดือนละ 1,280,000 บาทถ้ารายได้จากการรับจ้างฆ่าสัตว์ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายดังกล่าว ยังคงขาดเป็นเงินเท่าใด จำเลยที่ 1 รับชดใช้ให้ทุกเดือนไปจนกว่าโจทก์จะได้รับเงินค่าจ้างฆ่าสัตว์คุ้มกับค่าใช้จ่ายดังกล่าว เห็นว่าข้อสัญญาดังกล่าวนี้มิใช่กำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้ประโยชน์แก่โจทก์โดยมีเงื่อนไข เนื่องจากการที่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญากับโจทก์ เพราะมิใช่เงินค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด แม้จำเลยจะไม่ได้ทำผิดสัญญา เช่นส่งสุกร โค กระบือเข้าฆ่าครบจำนวนทุกเดือน แต่รายได้จากการรับจ้างฆ่าสัตว์แต่ละเดือนไม่ถึง 1,280,000 บาท จำเลยที่ 1ก็ยังต้องรับผิดค่าใช้จ่ายส่วนที่ขาดอยู่ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้เต็มจำนวน เมื่อโจทก์นำสืบว่ารายได้จากการรับจ้างฆ่าสัตว์ของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2512 ถึงวันที่ 11 มกราคม 2513 แต่ละเดือนต่ำกว่าค่าใช้จ่าย รวม 3 เดือนคิดเป็นเงิน 774,478 บาท 60 สตางค์ จำเลยมิได้นำสืบหักล้างจึงต้องรับผิดเต็มจำนวนดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยรับผิด 640,000 บาท โจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงถือว่ายุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยรับผิด 774,478 บาท 60 สตางค์ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงกำหนดให้จำเลยรับผิดสำหรับค่าเสียหายส่วนนี้ 640,000 บาทตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนค่าเสียหายอีกประการหนึ่งกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดเสียค่าปรับสำหรับสุกรที่ส่งเข้าฆ่าขาดตัวละ 100 บาท ค่าเสียหายส่วนนี้เป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 1ผิดสัญญา จึงเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้า เมื่อมีการผิดสัญญาโจทก์ก็ย่อมจะต้องได้รับความเสียหายคือขาดกำไรที่ควรจะได้รับในการรับจ้างฆ่าสุกรจากจำเลยที่ 1 แต่ถ้ากำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ได้ค่าจ้างจากการรับจ้างฆ่าสุกรจากจำเลยที่ 1 ตัวละ 39 บาท ค่าใช้จ่ายของบริษัทโจทก์ที่ขาดไปรวม 3 เดือน โจทก์ก็ได้รับทดแทนจากจำเลยแล้วค่าปรับที่จำเลยที่ 1 ส่งสุกรขาดตัวละ 100 บาทจึงเป็นกำไรสุทธิ ที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดตัวละ 100 บาทจึงสูงเกินส่วน ศาลฎีกาเห็นควรลดให้เหลือเพียงตัวละ 15 บาท จำเลยที่ 1 ส่งสุกรขาดรวม 23,221 ตัว เป็นเงิน 348,315บาท เมื่อรวมค่าเสียหายประการแรกอีก 640,000 บาท จึงเป็นเงินรวมทั้งสิ้น988,315 บาท

ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้โจทก์ชำระค่าผลิตผลพลอยได้จากการชำแหละซากสัตว์นั้น โจทก์ขอหักหนี้ค่าผลพลอยได้จากการชำแหละซากสัตว์กับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 ค่าผลพลอยได้จากการชำแหละสัตว์เป็นเงิน 450,000 บาท ดังนั้นเมื่อเอาไปหักกับหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามจำนวนดังกล่าวข้างต้น จึงเหลือเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระให้โจทก์รวม 538,315 บาท

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินรวม 538,315 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง คือวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2513จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share