คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นมิได้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯลฯไว้เพราะได้ลงโทษในกระทงหนักแล้ว คือ ความผิดฐานพยายามฆ่าคน หากศาลฎีกาวินิจฉัยฟังว่า จำเลยไม่ต้องรับโทษฐานพยายามฆ่าคน ดังนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะกำหนดโทษให้จำเลยต้องรับโทษในความผิดตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯลฯ ได้ ทั้งนี้โดยเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าคน นั้น คงจะได้พิจารณาว่า เป็นการลงโทษหนักอยู่แล้ว จึงวางแต่กระทงหนัก เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ต้องรับโทษฐานพยายามฆ่าคน ศาลฎีกาก็ควรวางโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่ได้รับอนุญาต (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 15/2502)

ย่อยาว

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิด 2 กระทง คือ ฐานมีปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72และฐานพยายามฆ่าคนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 อีกกระทงหนึ่งแต่เห็นสมควรลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ซึ่งเป็นบทหนัก วางโทษจำคุก 10 ปี คำรับของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เหลือโทษจำคุก 5 ปี ปืนและปลอกกระสุนปืนของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่าคน
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องตลอดทั้งความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้น และว่าเฉพาะความผิดตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ นั้น จำเลยมิได้อุทธรณ์ จึงยุติแล้วศาลอุทธรณ์หามีอำนาจหยิบยกมาพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องเสียได้ไม่
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คงวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ผิดฐานพยายามฆ่าคนส่วนปัญหาเรื่องมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่โจทก์ฎีกาคัดค้านมานั้น ปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาได้พิพากษาโดยที่ประชุมใหญ่เป็นแบบอย่างไว้แล้ว ในฎีกาที่ 707/2502 ว่า ในเรื่องความผิดฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นความผิดต่างกรรมคนละกระทงคนละพระราชบัญญัติกับความผิดที่มีอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นขึ้นมา อาจแยกฟ้องกระทงความผิดละสำนวนก็ได้ความผิดตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ เป็นอันยุติแล้ว ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ย่อมไม่มีอำนาจที่จะยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ
ปัญหาจึงมีว่า เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาแล้วว่า การยิงทำร้ายของจำเลยไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยไม่ต้องรับโทษฐานพยายามฆ่าคน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 ศาลฎีกาจะมีอำนาจวางโทษจำเลยในกระทงความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งศาลชั้นต้นมิได้วางโทษไว้นั้น ได้หรือไม่ในข้อนี้ ศาลฎีกาได้พิจารณาในที่ประชุมใหญ่ ลงมติว่า ศาลฎีกามีอำนาจวางโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ ได้โดยเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลย 10 ปี ฐานพยายามฆ่าคน และลดโทษลงเหลือ 5 ปี ที่ให้การรับสารภาพนั้น คงจะได้พิจารณาว่า เป็นการลงโทษหนักอยู่แล้ว จึงวางแต่กระทงหนัก ฉะนั้นเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ต้องรับโทษฐานพยายามฆ่าคนศาลฎีกาก็ควรวางโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต
พิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ ให้ปรับจำเลย 200 บาท ตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 คำรับของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงให้ปรับ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับ จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 กับให้ริบปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share