คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา92 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ถ้าและได้กระทำความผิดใดๆอีกในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี ฯลฯ” นั้น คำว่ารับโทษในประโยคหลัง หมายความถึง ได้รับโทษจำคุกในประโยคแรกนั่นเอง โทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้จึงไม่เป็นโทษที่กำลังรับอยู่หรือยังจะต้องรับอยู่ตามความหมายในมาตรานี้จะนำมาเป็นเหตุเพิ่มโทษตาม มาตรา92 หาได้ไม่

ย่อยาว

คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะเรื่องเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ว่า ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกแต่รอการลงโทษไว้นั้น ถ้าได้กระทำความผิดขึ้นอีกภายในเวลาที่ศาลกำหนดตามความใน มาตรา 56 เมื่อศาลบวกโทษที่รอไว้เข้ากับโทษในคดีหลังแล้ว จะเพิ่มโทษอีกด้วยได้หรือไม่

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลทั้งสองว่าเพิ่มโทษอีกไม่ได้

ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า คดีนี้ โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ประโยคที่ว่า “ในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี” นั้น ย่อมกินความรวมถึงผู้ที่ถูกรอการลงโทษไว้ด้วย เพราะผู้ที่ถูกรอการลงโทษไว้นั้น นับได้ว่าอยู่ในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ใช้คำว่า “โทษจำคุก” คือบัญญัติว่า “ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ถ้าและได้กระทำความผิดใด ๆ อีกในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี ฯลฯ” คำว่ารับโทษ ในประโยคหลัง ก็คือโทษจำคุกในประโยคแรกนั่นเอง โทษที่รอไว้จึงไม่เป็นโทษที่กำลังรับอยู่หรือยังจะต้องรับอยู่ตามความใน มาตรา 92 เทียบเคียงได้กับฎีกาที่ 564/2500

Share