แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามธรรมดาบุคคลย่อมตั้งตัวแทนทำแทนตนได้เสมอ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษทำนองว่า ให้ต้องกระทำด้วยตนเอง หรือตามสภาพไม่เปิดช่อง ให้มอบหมายจัดการแทนกันได้
เรื่องร้องทุกข์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 และ 5 นั้น มิใช่หมายความว่า ห้ามขาดไม่ให้มีการมอบอำนาจกัน เป็นแต่บัญญัติให้บุคคลดังกล่าวในมาตรา 5มีอำนาจกระทำกิจการที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 3 โดยไม่ต้องมีการมอบอำนาจซึ่งกันและกัน ส่วนกิจการในมาตรา 3 กิจการใดจะมอบอำนาจกันได้หรือไม่ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมดา สุดแต่ว่า กรณีใดมีกฎหมายห้าม หรือเป็นกรณีตามสภาพต้องกระทำเองหรือไม่ เรื่องร้องทุกข์ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องกระทำด้วยตนเอง และตามสภาพของการร้องทุกข์ก็เป็นเรื่องเปิดช่องให้จัดการแทนกันได้ การร้องทุกข์จึงมอบอำนาจให้ร้องแทนกันได้
หนังสือถึงพนักงานสอบสวน ซึ่งมีข้อความว่า “เนื่องด้วยธนาคารมีเรื่องบางอย่างที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจแต่เนื่องจากข้าพเจ้า(กรรมการผู้จัดการนิติบุคคล) มีกิจจำเป็นไม่สามารถมาแจ้งความด้วยตนเองได้ โดยหนังสือฉบับนี้ข้าพเจ้าขอมอบอำนาจให้นายสุรินทร์เจ้าหน้าที่ของธนาคารเป็นผู้แจ้งความแทนข้าพเจ้า และข้าพเจ้าขอรับรองผิดชอบในการที่นายสุรินทร์ปฏิบัติแทนข้าพเจ้า” และลงชื่อกรรมการผู้จัดการนิติบุคคลนั้น ถือว่าไม่ใช่คำร้องทุกข์โดยตนเองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123 จะว่าเป็นการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ก็ไม่ถนัด เพราะการแจ้งความนั้น อาจเป็นการร้องทุกข์ก็ได้ ไม่ใช่ก็ได้ และก็ไม่มีข้อความให้เห็นว่าให้มาแจ้งความเรื่องอะไร อันจะพอวินิจฉัยได้ว่าเป็นการมอบให้มาร้องทุกข์ถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสารมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2502)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันยักยอกทรัพย์ของธนาคารเอเซียขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.314, 319, 63, 65 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์
จำเลยทั้งสองปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดฐานยักยอกตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 314 ให้จำคุกจำเลยคนละ 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลดโทษให้จำเลยที่ 2 เหลือ 1 ปี 4 เดือน
ในปัญหา เรื่องการร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นการร้องทุกข์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้ว
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า กรรมการผู้จัดการธนาคารต้องร้องทุกข์ด้วยตนเองจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำแทนไม่ได้
ศาลฎีกา โดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่าตามธรรมดาบุคคลย่อมตั้งตัวแทนทำแทนตนได้เสมอ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษทำนองว่า ให้ต้องกระทำด้วยตนเองหรือตามสภาพไม่เปิดช่องให้มอบหมายจัดการแทนกันได้ เรื่องร้องทุกข์มีบัญญัติอยู่ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 และ 5 แต่ความใน 2 มาตรานี้ มิใช่หมายความว่า ห้ามขาดไม่ให้มีการมอบอำนาจกัน เป็นแต่บัญญัติให้บุคคลดังกล่าวใน มาตรา 5 มีอำนาจกระทำกิจการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 โดยไม่ต้องมีการมอบอำนาจซึ่งกันและกัน ส่วนกิจการใน มาตรา 3 กิจการใดจะมอบอำนาจกันได้หรือไม่ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมดา สุดแต่ว่ากรณีใดมีกฎหมายห้ามหรือเป็นกรณีตามสภาพต้องกระทำเองหรือไม่ เรื่องร้องทุกข์ไม่มีกฎหมายบังคับว่า ต้องกระทำด้วยตนเองและตามสภาพของการร้องทุกข์ก็เป็นเรื่องเปิดช่องให้จัดการแทนกันได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จึงลงมติว่า การร้องทุกข์นั้น มอบอำนาจให้ร้องแทนกันได้
แต่ในคดีนี้ หนังสือที่ว่ามอบอำนาจนั้นศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตัวเอกสารนี้ไม่ใช่คำร้องทุกข์โดยตนเองตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123 จะว่าเป็นการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ก็ไม่ถนัด เพราะการแจ้งความนั้นอาจเป็นการร้องทุกข์ได้ ไม่ใช่ก็ได้ และเอกสารนี้ก็ไม่มีข้อความให้เห็นว่า ให้มาแจ้งความเรื่องอะไร อันจะพอวินิจฉัยได้ว่า เป็นการมอบให้มาร้องทุกข์ จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นเอกสารมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ เมื่อฟังว่า ไม่มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ อัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างพิพากษาว่าเอกสารดังกล่าวใช้ได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย
ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์