คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาขายบ้านเลขที่ 281 พร้อมที่ดิน 16 ตารางวา แก่โจทก์จริง แต่ที่ดินเป็นที่สาธารณะอยู่ในความครอบครองของเทศบาล ได้บอกโจทก์ให้ทราบแล้ว
ดังนี้ แม้สัญญาดังกล่าวจะทำเป็นหนังสือจำเลยก็อาจนำสืบได้เพราะว่าถ้าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะจริงศาลก็ไม่อาจบังคับจำเลยให้ไปโอนให้แก่โจทก์ได้ การสืบดังนี้หาเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารไม่แต่เป็นการสืบให้เห็นว่าหนี้นั้นบังคับไม่ได้ ไม่ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาขายบ้านเลขที่ 281 อำเภอป้อมปราบจังหวัดพระนคร พร้อมกับที่ดินไม่มีโฉนด 16 ตารางวา ซึ่งจำเลยครอบครองมา 20 ปีเศษ เป็นราคา 30,000 บาท จำเลยรับเงินเป็นคราว ๆ จนครบจำนวนแล้ว จำเลยได้มอบบ้านเรือนกับที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองในวันทำสัญญา จำเลยมอบฉันทะให้ไปจดทะเบียนซื้อขายแต่ใบมอบใช้ไม่ได้โจทก์เตือนจำเลยผลัดผ่อนเรื่อยมา ต่อมาจำเลยสมยอมกับนางสาวชุณห์หงส์ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลรับว่าที่ขายให้โจทก์รุกล้ำที่ดินของน.ส.ชุณห์หงส์ แล้วยอมรื้อถอนไปโจทก์จึงฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยไปทำสัญญาจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาท

จำเลยรับว่า ทำสัญญาตามฟ้องจริง แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะโจทก์ก็รู้ จำเลยทำสัญญายอมความกับ น.ส.ชุณห์หงส์โดยสุจริต

ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การว่าโจทก์ยังชำระเงินให้ไม่หมด ขอสงวนสิทธิว่ากล่าวกับโจทก์ในข้อนี้ต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับ

จำเลยจะขอสืบพยานในประเด็นข้อที่ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่เป็นที่สาธารณะอยู่ในความดูแลของเทศบาล

ศาลชั้นต้นเห็นว่า การที่จำเลยจะขอสืบพยานว่าเป็นที่สาธารณะนั้น เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญาสืบไม่ได้ และเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว สั่งงดสืบพยาน และพิพากษาให้จำเลยไปทำสัญญาจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและบ้านตามโจทก์ฟ้อง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อที่จำเลยจะขอสืบพยานว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะอยู่ในความดูแลของเทศบาลและได้บอกให้โจทก์ทราบมาก่อนนั้น จำเลยอาจนำสืบได้เพราะว่าถ้าที่พิพาทเป็นที่สาธารณะอันอยู่ในครอบครองของเทศบาลจริง ศาลก็ไม่อาจบังคับจำเลยให้ไปโอนให้แก่โจทก์ได้ การสืบดังนี้หาเป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารไม่ แต่เป็นการสืบให้เห็นว่าหนี้นั้นบังคับไม่ได้ ไม่ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ฯลฯ

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เสีย ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share