แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ฉ. ผู้ตายอันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แสดงตนต่อโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 เพื่อขอรับศพผู้ตาย โดยแสดงหลักฐานเพียงใบแทนบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 3 เท่านั้น ส่วนหลักฐานอื่นตามระเบียบของโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 ที่แจ้งให้โจทก์นำมาแสดงไม่มี แต่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1กลับมอบศพผู้ตายให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไป เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่มีสิทธิในการรับศพผู้ตายออกจากโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 อย่างไร อันจะเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับศพผู้ตายไป จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์
ส่วนคำฟ้องของโจทก์ที่กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4นำศพผู้ตายใส่ในโลงที่โจทก์เป็นผู้เตรียมมานำออกไปจากโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 หากฟังได้เป็นความจริงย่อมเป็นการเอาโลงดังกล่าวไปโดยไม่มีสิทธิ เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตามคำฟ้องส่วนนี้ แต่โลงที่โจทก์กล่าวอ้างมีราคาเพียง 4,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์นำคดีส่วนนี้ไปฟ้องยังศาลแขวงที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของนายฉลอง เศวตนันทน์ผู้ตายเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2538 โจทก์นำผู้ตายเข้ารักษา ณ โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 และผู้ตายถึงแก่ความตายในวันเดียวกัน เมื่อโจทก์ขอรับศพผู้ตายโดยเตรียมหลักฐานเอกสารต่าง ๆ ตามระเบียบการนำศพออกจากโรงพยาบาล จำเลยที่ 1 อ้างว่า ต้องให้โจทก์นำหลักฐานต้นฉบับใบสำคัญการสมรสไปแสดงด้วยจึงจะรับศพได้ ปรากฏว่า ในระหว่างที่โจทก์กลับไปนำต้นฉบับใบสำคัญการสมรส จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไปแสดงต่อจำเลยที่ 1 ขอรับศพผู้ตายโดยแสดงหลักฐานเพียงใบแทนบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 3 (ใบรับคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน)ต่อจำเลยที่ 1 เท่านั้น ส่วนหลักฐานอื่นตามระเบียบของจำเลยที่ 1ที่แจ้งให้โจทก์นำไปแสดงไม่มี แต่จำเลยที่ 1 กลับมอบศพผู้ตายให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แล้วจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นำศพผู้ตายใส่ในโลงที่โจทก์เป็นผู้เตรียมมานำออกจากโรงพยาบาลไป โจทก์ติดต่อทวงถามให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าว แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย โจทก์ได้รับความเสียหาย กล่าวคือ โจทก์ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ตายไปเป็นเงิน 4,365 บาท ค่าซื้อโลงเป็นเงิน 4,000 บาทค่าจองวัดเมืองมางเพื่อจัดงานศพและเตรียมซื้อดอกไม้และอุปกรณ์ต่าง ๆในการจัดงานศพเป็นเงิน 20,000 บาท การกระทำของจำเลยทั้งห้าดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหายต่อชื่อเสียงของโจทก์ ซึ่งโจทก์ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 500,000 บาท และการกระทำของจำเลยทั้งห้าทำให้โจทก์เสื่อมเสียสุขภาพจิต โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน200,000 บาท รวมค่าเสียหายที่จำเลยทั้งห้าต้องชดใช้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 728,365 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2538 คิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 49,239.46 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งห้าต้องชำระให้โจทก์จำนวน 777,604.46 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 777,604.46 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 728,365 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 ประกอบมาตรา 172 ให้รับฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1ดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้ว โดยคำพิพากษาศาลฎีกาส่วนคดีนี้ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 5ให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 2
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชอบหรือไม่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์อันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แสดงตนต่อโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 เพื่อขอรับศพนายฉลอง เศวตนันทน์ ผู้ตาย โดยแสดงหลักฐานเพียงใบแทนบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 3 เท่านั้น ส่วนหลักฐานอื่นตามระเบียบของโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 ที่แจ้งให้โจทก์นำมาแสดงไม่มีแต่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 กลับมอบศพผู้ตายให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับศพไป นอกจากนั้นจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 ได้นำศพผู้ตายใส่ในโลงที่โจทก์เป็นผู้เตรียมมานำออกไปจากโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 ก่อนที่โจทก์จะกลับมา ดังนี้ เห็นว่า โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่มีสิทธิในการรับศพผู้ตายออกจากโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 อย่างไร อันจะเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 รับศพผู้ตายไป จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่โจทก์กล่าวอ้างว่าต้องจองวัดและซื้ออุปกรณ์เพื่อจัดงานศพเป็นเงิน 20,000 บาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงของโจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท และค่าเสียหายต่อสุขภาพจิตของโจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท คงมีเฉพาะคำฟ้องของโจทก์ ส่วนที่กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำศพผู้ตายใส่ในโลงที่โจทก์เป็นผู้เตรียมมานำออกไปจากโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 ซึ่งหากฟังได้เป็นความจริงย่อมเป็นการเอาโลงดังกล่าวไปโดยไม่มีสิทธิ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ตามคำฟ้องส่วนนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทั้งหมดนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่โลงที่โจทก์กล่าวอ้างว่า เป็นผู้เตรียมมามีราคาเพียง 4,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง สมควรให้โจทก์นำคดีส่วนนี้ไปฟ้องยังศาลแขวงที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีฟ้องเฉพาะส่วนที่กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำศพผู้ตายใส่ในโลงที่โจทก์เป็นผู้เตรียมมานำออกไปจากโรงพยาบาลไปฟ้องยังศาลแขวงภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา