แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และขณะเกิดเหตุได้ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 หรือไม่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นตัวการ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ฝ่ายเดียวว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดในฐานะดังกล่าวโดยโจทก์มิได้แก้อุทธรณ์ตั้งเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1ในชั้นอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยก็เป็นเรื่องนอกประเด็น ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2536 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองและจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัย ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงเลี้ยวเข้าซอยเพชรเกษม 69ตัดหน้ารถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับสวนทางมาโดยมิได้ชะลอความเร็วหรือหยุดรถ เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 73,968 บาท แต่ยังไม่หายเป็นปกติ ขอคิดค่ารักษาพยาบาลในภายหน้า 20,000 บาท โจทก์ต้องเสียความสามารถในการประกอบการงานในปัจจุบันและอนาคตคิดเป็นเงิน 300,000 บาทและยังมีค่าเสียหายอื่นอีกหลายรายการรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น408,968 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 408,968 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยเป็นผู้ครอบครองรถยนต์และไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ให้นางสาวปราณี ฉ่องสวนอ้อย ยืมเงินไปวางเงินดาวน์เพื่อซื้อรถ แต่เกรงว่าจะไม่ได้เงินคืน จึงใส่ชื่อจำเลยที่ 2เป็นเจ้าของไว้ก่อนเท่านั้น รถยนต์คันดังกล่าวจึงอยู่ในความครอบครองของนางสาวปราณี จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 เพราะจำเลยที่ 2 มิใช่นายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 2 จริง แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3ย่อมหลุดพ้นความรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 203,659 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับสวนทางมาเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส มีปัญหาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ในปัญหานี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 จำเลยที่ 2 ผู้เดียวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทในปัญหาดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และขณะเกิดเหตุได้ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 หรือไม่ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นตัวการ และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ฝ่ายเดียวว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดในฐานดังกล่าว โดยโจทก์ก็มิได้แก้อุทธรณ์ตั้งเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ในปัญหาว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ไว้ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ในชั้นอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยก็เป็นเรื่องนอกประเด็น ต้องถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่อาจรับวินิจฉัยปัญหานี้อีกได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง คงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในฐานะเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 หรือไม่ ซึ่งแม้ศาลอุทธรณ์จะมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ตามที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ แต่คู่ความได้สืบข้อเท็จจริงปรากฏและพยานหลักฐานอยู่ในสำนวนแล้วจึงสมควรวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ซึ่งข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าจำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถคันเกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.1 ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส เห็นว่า ใบคู่มือจดทะเบียนรถตามเอกสารหมาย จ.1 มิใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง แต่เป็นเพียงเอกสารซึ่งควบคุมการใช้รถยนต์และการจัดเก็บภาษีประจำปีตามพระราชบัญญัติรถยนต์เท่านั้น แม้จะมีรายการระบุชื่อเจ้าของรถ ชื่อผู้ครอบครองรถ กรณียังไม่อาจรับฟังว่าผู้มีชื่อดังกล่าวเป็นผู้ครอบครองรถในวันเกิดเหตุละเมิดต่อโจทก์ได้นอกจากเอกสารหมาย จ.1 แล้วโจทก์มีตัวโจทก์กับร้อยตำรวจโทสถาพร รอดโพธิ์ทอง เบิกความได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถคันเกิดเหตุเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดนำสืบแสดงเลยว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถขณะเกิดเหตุโดยจำเลยที่ 2 โดยสารไปในรถหรือจำเลยที่ 2 สั่งการให้จำเลยที่ 1 ขับรถออกไปกระทำการใด ๆ แทนจำเลยที่ 2 อีกทั้งพฤติการณ์อันจะฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้เชิดจำเลยที่ 1 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตน ก็ไม่ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ ในเมื่อโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ขณะปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหรือตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ได้ความดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่มีพยานนำสืบ ลำพังข้อความที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถในใบคู่มือจดทะเบียนรถตามเอกสารหมาย จ.1 ย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบมาตรา 821 ได้ ฎีกาจำเลยที่ 2 ประการอื่นจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
พิพากษายืน