คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1733/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสิบหกฟ้องจำเลยทั้งสี่เพื่อขอให้ระงับการก่อสร้างและให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอ้างว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การก่อสร้างขยายท่าอากาศยานทำให้เกิดฝุ่นละออง ประชาชนและโจทก์ทั้งสิบหกสูดฝุ่นละอองทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง และมีผลต่อการระบายน้ำในหมู่บ้านทำให้เกิดความเสียหายแก่สุขภาพอนามัยและทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสิบหก ดังนี้ กรณีตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบหกเป็นเรื่องแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดหรือแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหากเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสิบหกได้รับอันตรายแก่ร่างกายสุขภาพอนามัย และเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสิบหกเสียหายด้วยประการใด ๆ โจทก์ทั้งสิบหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 มาตรา 96 ได้ หรืออาจเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนจากรัฐในกรณีที่ได้รับความเสียหายอันมีสาเหตุมาจากกิจการหรือโครงการที่ริเริ่ม สนับสนุนหรือดำเนินการโดยส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6(2) หรือหากเป็นกรณีจำเลยทั้งสี่จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อโจทก์ทั้งสิบหกโดยผิดกฎหมายให้โจทก์ทั้งสิบหกเสียหายแก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสิบหกโจทก์ทั้งสิบหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องผู้ทำละเมิดหรือนายจ้างของผู้ทำละเมิดเรียกค่าสินไหมทดแทนได้หรือหากผู้ทำละเมิดทำละเมิดต่อเนื่องกันไม่ยอมหยุด โจทก์ทั้งสิบหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ทำละเมิดหยุดทำละเมิดเสียก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
การที่โจทก์ทั้งสิบหกฟ้องจำเลยทั้งสี่โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วจะมีผลถึงขนาดที่คณะรัฐมนตรีจะไม่อนุมัติการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานจึงยังไม่อาจถือได้ว่ามติคณะรัฐมนตรีไม่ชอบ ยิ่งกว่านั้นโจทก์ทั้งสิบหกได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างอันเนื่องมาจากความบกพร่องของผู้ก่อสร้างที่ไม่ป้องกันมลพิษซึ่งความเสียหายดังกล่าวก็มิใช่ผลโดยตรงจากมติคณะรัฐมนตรีโจทก์ทั้งสิบหกย่อมไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานได้
เมื่อคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสิบหกไม่อาจจะพิพากษาให้ได้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบหกเสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 131(2) การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องและคืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ทั้งสิบหกทั้งหมดจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ระงับการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่นจนกว่าจะแก้ไขปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ทั้งสิบหกและประชาชนและเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเสีย

ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า ตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้การขยายท่าอากาศยานขอนแก่นซึ่งเป็นโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ จำเลยที่ 1 และที่ 2ให้มีหน้าที่ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 มาตรา 44(3) จึงไม่รับคำฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลแก่โจทก์ทั้งสิบหก

โจทก์ทั้งสิบหกอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสิบหกหาได้บรรยายฟ้องว่าเขตพื้นที่ก่อสร้างคดีนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 43, 44(3) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ไม่ฟ้องโจทก์ทั้งสิบหกส่วนนี้จึงมิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ส่วนคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบหกที่ว่า การก่อสร้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำให้โจทก์ทั้งสิบหกได้รับความเดือดร้อนและเสียหายนั้นโจทก์มิได้เรียกค่าเสียหายมาจึงไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสิบหกร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนจำเลยที่ 1 และที่ 2ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้

โจทก์ทั้งสิบหกฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสิบหกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟ้องของโจทก์ทั้งสิบหกไว้พิจารณาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

โจทก์ทั้งสิบหกฎีกาว่า โจทก์ฟ้องว่า โครงการขยายท่าอากาศยานขอนแก่นเป็นโครงการที่ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมกำหนดให้ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนตามมาตรา 46 และมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เนื่องจากเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่พื้นที่ที่มีลักษณะเป็นต้นน้ำลำธารหรือมีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นโดยทั่วไปจึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐมนตรีจะต้องออกกฎกระทรวงกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 43 และมาตรา 44 กรณีจึงไม่เข้าข่ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172วรรคสอง ที่จะต้องบรรยายข้อความดังกล่าวมาในฟ้อง และโจทก์ทั้งสิบหกฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ระงับการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่นจนกว่าจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดแก่ประชาชนและโจทก์ทั้งสิบหกซึ่งการดำเนินการก่อสร้างตามโครงการดังกล่าวกระทำผิดขั้นตอนการอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งโจทก์ทั้งสิบหกสามารถฟ้องได้โดยไม่จำต้องเรียกค่าเสียหายมาในคดีนี้ แต่อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีต่างหากได้นั้น คดีนี้ โจทก์ทั้งสิบหกฟ้องจำเลยทั้งสี่เพื่อขอให้ระงับการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่น และให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่นอ้างว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่นโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้คณะรัฐมนตรีประกอบการพิจารณา มติของคณะรัฐมนตรีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การก่อสร้างขยายท่าอากาศยานขอนแก่น มีการขุดดิน ถมดิน ถางป่า ปรับพื้นดิน ทำให้เกิดฝุ่นละอองประชาชนและโจทก์ทั้งสิบหกสูดฝุ่นละอองทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง และมีผลต่อการระบายน้ำในหมู่บ้านเดชา เมื่อฝนตกน้ำจะไหลบ่าจากสถานที่ก่อสร้างลงมาท่วมขังในหมู่บ้านเดชาทำให้เกิดความเสียหายแก่สุขภาพอนามัยและทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสิบหก ได้ความดังนี้ เห็นว่า กรณีตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบหกเป็นเรื่องแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดหรือแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหากเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสิบหกได้รับอันตรายแก่ร่างกายสุขภาพอนามัย และเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสิบหกเสียหายด้วยประการใด ๆ โจทก์ทั้งสิบหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 มาตรา 96 ได้ หรืออาจเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนจากรัฐในกรณีที่ได้รับความเสียหายอันมีสาเหตุมาจากกิจการหรือโครงการที่ริเริ่ม สนับสนุนหรือดำเนินการโดยส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 6(2) หรือหากเป็นกรณีจำเลยทั้งสี่จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์ทั้งสิบหกโดยผิดกฎหมายให้โจทก์ทั้งสิบหกเสียหายแก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดีเสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสิบหกโจทก์ทั้งสิบหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องผู้ทำละเมิดหรือนายจ้างของผู้ทำละเมิดเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ หรือหากผู้ทำละเมิดทำละเมิดต่อเนื่องกันไม่ยอมหยุด โจทก์ทั้งสิบหกก็ชอบที่จะฟ้องร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ทำละเมิดหยุดทำละเมิดเสียก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การที่โจทก์ทั้งสิบหกมาฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ขอให้ระงับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่นและขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่นโดยที่ฟ้องโจทก์ทั้งสิบหกมิได้บรรยายว่าหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วจะมีผลถึงขนาดที่คณะรัฐมนตรีจะไม่อนุมัติการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่น จึงยังไม่อาจถือได้ว่ามติคณะรัฐมนตรีไม่ชอบ ยิ่งกว่านั้น ตามฟ้องได้ความแต่เพียงว่า โจทก์ทั้งสิบหกได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างอันเนื่องมาจากความบกพร่องของผู้ก่อสร้างที่ไม่ป้องกันมลพิษซึ่งความเสียหายดังกล่าวก็มิใช่ผลโดยตรงจากมติคณะรัฐมนตรีโจทก์ทั้งสิบหกย่อมไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่นได้โจทก์ทั้งสิบหกจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ได้ เมื่อคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสิบหกไม่อาจจะพิพากษาให้ได้ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบหกเสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131(2) ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องและคืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ทั้งสิบหกทั้งหมดจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบหก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share