คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงส่งแก่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สัญญาที่โจทก์ทำกับการไฟฟ้าทั้งสองระบุว่าเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายข้อความในหนังสือสัญญาให้เห็นว่าคู่สัญญามีเจตนามุ่งจะให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เพื่อตอบแทนการใช้ราคา มิได้มุ่งหวังในผลสำเร็จในการงาน แม้ข้อความในสัญญาจะได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะของทรัพย์ที่จะต้องส่งมอบว่าจะต้องเป็นไปตามแบบและรายการแนบท้ายสัญญา ก็เห็นได้ว่าเป็นการกำหนดรายละเอียดไว้เป็นเงื่อนไขในการรับซื้อ สัญญาดังกล่าวจึงเข้าลักษณะสัญญาซื้อขายหาใช่สัญญาจ้างทำของไม่
โจทก์นำลวดเหล็กเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้ในการผลิตเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงเพื่อขาย มิใช่ลวดเหล็กนั้นเข้ามาเพื่อขาย โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าตามความหมายในประมวลรัษฎากร มาตรา 77 โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามความหมายในประมวลรัษฎากร มาตรา 77 ไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามที่ระบุในบัญชีอัตราภาษีการค้าและรายการที่ประกอบการค้าตามมาตรา 78 วรรคแรก และโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าในกรณีให้ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเป็นผู้ประกอบการค้าตาม มาตรา 78 วรรคสอง (อ้างฎีกาที่ 1606/2512) กรณีนี้โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล
กรณีเรื่องภาษีอากรอยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 5 ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องกรมสรรพากรเป็นจำเลยและเมื่อศาลเห็นว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่กรมสรรพากรจำเลยยกขึ้นอ้างอิงเพื่อเรียกเก็บภาษีจากโจทกืไม่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะถูกฟ้องเป็นจำเลยหรือไม่ ศาลย่อมมีอำนาจไม่ให้บังคับตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หรือให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์สั่งและนำลวดเหล็กเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้ในการผลิตเสาคอนกรีตอัดแรงขาย จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีเทศบาล แต่เจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้าที่ทำการศุลกากรกรุงเทพฯ ได้ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าแก่ของที่โจทก์นำเข้าดังกล่าว จึงขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

จำเลยให้การว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการค้าและสินค้าตามฟ้องเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้ผลิตเสาคอนกรีตอัดแรงตามที่โจทก์รับจ้างทำของให้แก่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผู้ว่าจ้าง ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่าโจทก์สั่งลวดเหล็กตามฟ้องทั้ง 4 รายการเข้ามาเพื่อผลิตเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงให้แก่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามที่โจทก์รับจ้างทำของ หาได้ผลิตเป็นสินค้าขายตามปกติทั่ว ๆ ไป ไม่ จึงต้องเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลนั้น เห็นว่าสัญญาที่บริษัทโจทก์ทำกับการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามเอกสารที่โจทก์จำเลยอ้างส่งศาล นอกจากระบุไว้ชัดว่าเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายแล้ว ข้อความในหนังสือสัญญาดังกล่าวก็เป็นที่เห็นได้ว่าคู่สัญญามีเจตนามุ่งจะให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เพื่อตอบแทนการใช้ราคาอันเข้าลักษณะสัญญาซื้อขาย คู่สัญญาหาได้มุ่งหวังในผลสำเร็จในการงานไม่ แม้ข้อความในสัญญาจะได้กำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะของทรัพย์ที่จะต้องส่งมอบว่าจะต้องเป็นไปตามแบบและรายการแนบท้ายสัญญา ก็เห็นได้ว่าเป็นการกำหนดรายละเอียดไว้เป็นเงื่อนไขในการรับซื้อ เข้าลักษณะสัญญาซื้อขายนั่นเอง หาใช่เป็นสัญญาจ้างทำของดังข้อฎีกาของจำเลยไม่ เมื่อโจทก์นำลวดเหล็กตามฟ้องเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อใช้ในการผลิตเสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรงเพื่อขาย มิใช่สั่งลวดเหล็กตามฟ้องมาเพื่อขาย โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้ประกอบการค้าตามความหมายในประมวลรัษฎากร มาตรา 77 โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามที่ระบุในบัญชีอัตราภาษีการค้าและรายการที่ประกอบการค้าตามมาตรา 78 วรรคแรก และโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าในกรณี ให้ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเป็นผู้ประกอบการค้าตามมาตรา 78 วรรคสอง โดยนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 1606/2512 คดีระหว่างบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด โจทก์ กรมสรรพากร กับพวก จำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า กรณีนี้โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามฟ้อง

จำเลยฎีกาว่า โจทก์ชอบที่จะฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่โจทก์มาฟ้องจำเลยโดยจำเลยไม่มีส่วนโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์เช่นนี้ไม่ถูกต้องและศาลจะบังคับให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อื่นซึ่งจำเลยมิได้เป็นผู้ก่อหรือกระทำแก่โจทก์ด้วย ย่อมบังคับไม่ได้นั้น เรื่องนี้ประมวลรัษฎากร มาตรา 5 บัญญัติว่า “ภาษีอากรซึ่งบัญญัติไว้ในลักษณะนี้ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมสรรพากร” เมื่อปรากฏว่ามูลกรณีเรื่องภาษีอากรในคดีนี้อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้และเมื่อศาลเห็นว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่จำเลยยกขึ้นอ้างอิงเพื่อเรียกเก็บภาษีจากโจทก์นั้น ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะถูกฟ้องเป็นจำเลยหรือไม่ ศาลย่อมมีอำนาจไม่ให้บังคับตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หรือให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้นเสียได้

พิพากษายืน

Share