แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ชิงทรัพย์ผู้เสียหายได้แล้ว ได้วิ่งขึ้นสามล้อเครื่องของจำเลยที่ 3 ซึ่งติดเครื่องรออยู่หนีไป จึงเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมคบคิดวางแผนกันมากระทำผิด โดยจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคนขับรถสามล้อเครื่อง มีหน้าที่ติดเครื่องรถไว้ในบริเวณที่เกิดเหตุ คอยรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 พาทรัพย์มาขึ้นรถขับพาหนีไปเป็นส่วนหนึ่งของการแย่งชิงทรัพย์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมมีกรรไกร 1 เล่ม เป็นอาวุธพาติดตัวไป กระทำการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยใช้กำลังกายและกรรไกรเป็นอาวุธประทุษร้ายผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 83, 92, 93
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า มิได้ร่วมกันปล้นทรัพย์ตามโจทก์ฟ้อง เพียงแต่ร่วมกันชิงทรัพย์โดยจำเลยที่ 3 มิได้ร่วมกระทำผิดด้วย
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยทุกคนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ให้จำคุกคนละ 12 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ให้จำคุก 16 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ให้จำคุก 18 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฐานรับสารภาพคงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 10 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 ไว้ 12 ปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับพวกอีก 1 คนกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 3 ไม่มีความผิดให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ชิงเอานาฬิกาข้อมือของผู้เสียหายได้แล้วได้วิ่งไปขึ้นสามล้อเครื่องซึ่งติดเครื่องรออยู่ พอจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขึ้นรถแล้ว สามล้อเครื่องคันนั้นก็ขับพาหนีไป และเมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระโดดลงจากรถวิ่งหนี คนขับสามล้อเครื่องได้ขับรถหลบหนีไป ดังนี้ เห็นได้ว่าคนขับรถสามล้อเครื่องคันนั้นต้องเป็นพวกเดียวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งได้ซึ่งได้ร่วมคบคิดวางแผนกันมากระทำผิดโดยคนขับสามล้อเครื่องมีหน้าที่ติดเครื่องรถไว้ในบริเวณที่เกิดเหตุคอยรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 พาทรัพย์มาขึ้นรถขับพาหนีไปเป็นส่วนหนึ่งของการแย่งชิงทรัพย์และคนขับสามล้อเครื่องนั้นคือจำเลยที่ 3 การชิงทรัพย์ของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2