คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 904/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในฟ้องข้อ 1 โจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยเป็นผู้ลักทรัพย์ของกลางโจทก์บรรยายไว้แต่เพียงว่ามีคนร้ายลักเอาไปแล้วจึงบรรยายต่อไปในข้อ 2 ว่า ทั้งนี้โดยจำเลยเป็นผู้ลักหรือมิฉะนั้นก็รับของโจรไว้ซึ่งมิได้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดทั้งสองฐาน จึงไม่ขัดกันฟ้องของโจทก์เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง ให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี เมื่อจำเลยฎีกาเถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
ฎีกาดุลพินิจในการลงโทษเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ข้อ 1 คนร้ายได้ลักเอาทรัพย์ของกลางซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของนายจ้างจำเลยไป ข้อ 2 ทั้งนี้โดยจำเลยเป็นผู้ลักหรือมิฉะนั้นจำเลยได้รับเอาทรัพย์ของกลางไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด เข้าลักษณะลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(9)(11), 357

จำเลยให้การปฏิเสธ และต่อสู้ว่าฟ้องเคลือบคลุม คดีไม่มีการร้องทุกข์ไม่มีผู้เสียหาย และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมจำเลยลักเอาทรัพย์ดังกล่าวตามฟ้องไป มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(9)(11) จำคุก 4 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่บรรยายให้ชัดลงไปว่าจำเลยกระทำผิดฐานใดแน่นอนและขัดแย้งกัน กล่าวคือ ในตอนต้นบรรยายว่าจำเลยลักทรัพย์ แล้วกลับบรรยายในตอนท้ายว่าจำเลยรับของโจร จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ศาลฎีกาเห็นว่า ในฟ้องข้อ 1 โจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยเป็นผู้ลักทรัพย์ของกลาง โจทก์บรรยายไว้แต่เพียงว่ามีคนร้ายลักเอาไป แล้วจึงบรรยายต่อไปในข้อ 2 ว่า ทั้งนี้โดยจำเลยเป็นผู้ลักหรือมิฉะนั้นก็รับของโจรไว้ ซึ่งมิได้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดทั้งสองฐาน จึงไม่ขัดกัน ฟ้องของโจทก์เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว

ที่จำเลยฎีกาว่า ทรัพย์ของกลางไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่แท้จริง โจทก์ไม่มีพยานยืนยันว่าเห็นจำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์นั้น พยานโจทก์เบิกความปรักปรำจำเลยและแตกต่างกัน จำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนรูปคดียังเป็นที่สงสัย ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี เมื่อจำเลยฎีกาเถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218

ที่จำเลยฎีกาว่า หากศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยกระทำผิดจริง ก็ต้องถือว่าคำให้การจำเลยชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา คดีมีเหตุควรบรรเทาโทษ ขอให้ลดโทษให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นฎีกาดุลพินิจในการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามเช่นเดียวกัน

พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย

Share