คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4595/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และความผิดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2485 มาตรา 48 ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย ข้อเท็จจริงในคดีอาญารับฟังว่า จำเลยใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ เป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คำพิพากษา ส่วนอาญาย่อมผูกพันจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46จำเลยไม่อาจโต้เถียงข้อเท็จจริงให้รับฟังเป็นอย่างอื่นได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 423 วรรคหนึ่ง
แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 447จะบัญญัติให้จำเลยในคดีแพ่งรับผิดชอบจัดการโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์อันเป็นทางแก้เพื่อให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์กลับคืนดีก็ตาม แต่เมื่อในคดีอาญาศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาในหนังสือพิมพ์โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาแล้วเป็นการเพียงพอที่จะแก้ไขให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับคืนดีแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องโฆษณาในคดีส่วนแพ่งต่อไปอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนักการเมืองเคยได้รับเลือกตั้งจากประชาชนจังหวัดแพร่ให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรติดต่อกันมา6 สมัย เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมาแล้วหลายตำแหน่งเคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงคือมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการออกและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ และเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน อันเป็นหนังสือพิมพ์รายวันพิมพ์จำหน่ายจ่ายแจกให้ประชาชนได้อ่านทั่วราชอาณาจักร มีจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่บรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2535 จำเลยทั้งสองได้ตีพิมพ์ข้อความเป็นหัวข้อข่าวในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันว่าเหตุเกิดเพราะโกใหญ่…มีรายละเอียดต่อหน้า 15 ตอนหนึ่งว่า นายณรงค์วงศ์วรรณ มีชื่ออยู่ในแบล็กลิสต์ของ ดีอีเอ ฉบับประจำวันที่ 28 และ29 มีนาคม 2535 พิมพ์ข้อความเป็นหัวข้อข่าวในหน้าที่ 1 ว่านสพ. ต่างชาติตีแผ่ทั่ว ณรงค์-ผง-ทหาร…มีรายละเอียดต่อหน้า 15ตอนหนึ่งว่า นายณรงค์ วงศ์วรรณ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยโดยพาดหัวข่าวว่านักค้ายาเสพติดผู้โด่งดังได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย ฉบับประจำวันที่ 30 มีนาคม 2535 พิมพ์ข้อความเป็นหัวข้อข่าวในหน้า 1 ว่า เชื่อไร้คำตอบจากสหรัฐ อานันท์ยันไม่ก้าวก่าย…มีรายละเอียดต่อหน้า 15 ตอนหนึ่งว่า เผยอเมริกันแคลงใจหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมนานแล้วเคยส่งทูตเจรจาลับรัฐบาลชาติชาย ยับยั้งนำเข้าร่วมรัฐบาล…ฉบับประจำวันที่ 1 เมษายน 2535 พิมพ์ข้อความเป็นหัวข้อข่าวในหน้า 1ว่า บุญชนะติงนายกฯ ใหม่ อย่าทำการค้า ตปท. พัง…มีรายละเอียดต่อหน้า15 และหน้า 16 บทความชื่อโกใหญ่ หนึ่งในเส้นเชือกมัดคอฆ่าณรงค์วงศ์วรรณ มีข้อความตอนหนึ่งว่า ในหมู่มือปราบยาเสพติดล้วนให้ข้อมูลตรงกันประการหนึ่งว่า เหตุที่หน่วยปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกาขึ้นชื่อนายณรงค์ไว้ในบัญชีดำนั้น เนื่องเพราะบรรดาผู้ค้ายาเสพติดข้ามชาติในย่านภาคเหนือล้วนมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับณรงค์วงศ์วรรณ ฉบับประจำวันที่ 4 และ 5 เมษายน 2535 พิมพ์ข้อความเป็นหัวข้อข่าวในหน้า 1 ว่า ออสซี่งดวีซ่าณรงค์เฉยจะเป็นนายกเส้นทางสวรรค์สู่เก้าอี้ผู้นำตึกไทยคู่ฟ้าของณรงค์ วงศ์วรรณ์ มีอุปสรรคอีกแล้ว รอยเตอร์ตีพิมพ์ใหม่ออสเตรเลียไม่ให้วีซ่าเข้าประเทศอีกแล้วข้อหาเดิมยาเสพติด… มีรายละเอียดต่อหน้า 11 ตอนหนึ่งว่า… ถ้าเขามาทำเรื่องขอวีซ่า เขาจะได้รับการปฏิเสธ… ซึ่งข้อความที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันลงพิมพ์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสารหนังสือพิมพ์ ทำให้ประชาชนผู้อ่านเข้าใจความหมายไปในทางที่ว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี ค้ายาเสพติดเฮโรอีน ซึ่งล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น ความจริงโจทก์มิได้ค้ายาเสพติดไม่เคยค้าเฮโรอีน ไม่เคยมีชื่ออยู่ในบัญชีดำของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลีย โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาฐานหมิ่นประมาทและผิดพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ต่อศาลจังหวัดแพร่ คดีหมายเลขดำที่ 767/2535 คดีมีมูล ศาลสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณา จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติคุณถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังจากประชาชนทั่วไปทั่วราชอาณาจักรทำให้โจทก์เป็นที่รังเกียจของสังคม ทำให้ประชาชนเสื่อมความศรัทธาในตัวโจทก์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตหมดความนิยมเชื่อถือของผู้บังคับบัญชาผู้ใต้บังคับบัญชาและประชาชนทั่วไปเป็นการขัดขวางและทำลายอนาคตของโจทก์ไม่ให้โจทก์ได้รับใช้ประชาชนไม่ว่าระดับใดอีกต่อไป นอกจากจะได้รับความเสียหายในด้านจิตใจในทางอนามัยแล้วยังเป็นผลเสียหายต่อคะแนนนิยมของประชาชนที่มีต่อโจทก์ในการที่จะทำงานในหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เป็นการตัดหนทางเจริญของโจทก์ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือได้รับเลือกตั้งอื่นใดในการบริหารระดับประเทศอีกต่อไป เมื่อได้พิจารณาถึงความเป็นอยู่ ชื่อเสียง เกียรติคุณของโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้ว โจทก์จึงขอเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 100,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันประกาศคำพิพากษาและคำขออภัยในหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกจำหน่ายในกรุงเทพมหานครทุกฉบับด้วยเนื้อที่ 1 ใน 2 ของหน้า 1 ของแต่ละฉบับเป็นเวลา 15 วันติดต่อกันโดยจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

จำเลยทั้งสองให้การว่า ข้อความที่ลงพิมพ์ตามที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องและที่โจทก์อ้างว่าทำให้ประชาชนผู้อ่านเข้าใจความหมายไปในทางที่ว่าโจทก์เป็นคนไม่ดีค้ายาเสพติดเฮโรอีน จนมีชื่ออยู่ในบัญชีดำของสำนักงานปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกาว่าพัวพันยาเสพติด จำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าข้อความที่ตีพิมพ์และไขข่าวออกไปมิได้มีความหมายถึงขนาดดังที่โจทก์อ้าง ทั้งประชาชนโดยทั่วไปก็มิได้เข้าใจเช่นนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์คิดมากไปเองเพราะข้อความดังกล่าวที่จำเลยทั้งสองตีพิมพ์และไขข่าว ล้วนแต่ได้มาจากแหล่งข่าวและข้อมูลที่เป็นความจริงทั้งสิ้น โจทก์ก็รับทราบข่าวดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นข่าวจาก “ทัตไวเลอร์” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาข่าวจากหนังสือพิมพ์ “วอลสตรีท เจอร์นัล” “วอชิงตันโพสต์” หรือจากการแถลงข่าวของสหพันธ์นักศึกษาไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นกัน จำเลยทั้งสองมิได้มีเจตนาไขข่าวหรือตีพิมพ์ข้อความใดอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณ หรือทางทำมาหาได้หรือทางเจริญอื่นของโจทก์แต่อย่างใด เพราะข้อความดังกล่าวทั้งหมดล้วนแต่เป็นความจริงและเป็นการกล่าวหรือไขข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนทั่วไป ไม่มีข้อความใดเป็นหมิ่นประมาท โจทก์มิได้กล่าวยืนยันให้ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำเช่นนั้น แต่กลับกันเป็นเรื่องที่สำคัญและเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ส่วนที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหาย 100,000,000 บาท โจทก์เพียงแต่กล่าวอ้างมาคลุม ๆไม่ได้แยกให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใด เป็นฟ้องเคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งทั้งเป็นการประเมินค่าเสียหายเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 5,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลฎีกาจึงให้งดการพิจารณาสำหรับจำเลยที่ 1 ไว้ชั่วคราว ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1จากสารบบความ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์เป็นนักการเมืองเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ติดต่อกันหลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี เมื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปปี 2535 โจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่และสมาชิกพรรคสามัคคีธรรมได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนสูงสุด โจทก์ได้รวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคการเมืองอื่นที่จะสนับสนุนให้โจทก์จัดตั้งรัฐบาล โดยโจทก์จะได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2535จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา เสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันของจำเลยที่ 1 ฉบับวันที่ 27มีนาคม 2535 ด้วยการพาดหัวข่าวในหน้า 1 ว่า เหตุเกิดเพราะโกใหญ่มีรายละเอียดต่อหน้า 15 ตอนหนึ่งว่า โจทก์มีชื่ออยู่ในแบล็กลิสต์ของดีอีเอ ฉบับประจำวันที่ 28 และ 29 มีนาคม 2535 พิมพ์หัวข้อข่าวในหน้า 1 ว่า นสพ. ต่างชาติตีแผ่ทั่วณรงค์-ผง-ทหาร มีรายละเอียดต่อหน้า 15 ตอนหนึ่งว่า โจทก์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยโดยพาดหัวข่าวว่านักค้ายาเสพติดผู้โด่งดังได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย ฉบับประจำวันที่ 30 มีนาคม 2535 พิมพ์หัวข้อข่าวในหน้า 1ว่า เชื่อไร้คำตอบจากสหรัฐ อานันท์ยันไม่ก้าวก่าย มีรายละเอียดต่อหน้า15 ตอนหนึ่งว่า เผยอเมริกันแคลงใจหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมนานแล้วเคยส่งทูตเจรจาลับรัฐบาลชาติชาย ยับยั้งนำเข้าร่วมรัฐบาล ฉบับประจำวันที่ 1 เมษายน 2535 พิมพ์หัวข้อข่าวในหน้า 1 ว่า บุญชนะติงนายกฯใหม่ อย่าทำการค้า ตปท. พัง มีรายละเอียดต่อหน้า 15 และหน้า 16บทความชื่อ โกใหญ่หนึ่งในเส้นเชือกมัดคอฆ่าโจทก์ มีข้อความตอนหนึ่งว่า ในหมู่มือปราบยาเสพติดล้วนให้ข้อมูลตรงกันประการหนึ่งว่า เหตุที่หน่วยปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกาขึ้นชื่อโจทก์ไว้ในบัญชีดำนั้นเนื่องเพราะบรรดาผู้ค้ายาเสพติดข้ามชาติในย่านภาคเหนือล้วนมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับโจทก์ ฉบับประจำวันที่ 4 และ 5 เมษายน 2535 พิมพ์หัวข้อข่าวหน้า 1 ว่า ออสซี่งดวีซ่า โจทก์เฉยจะเป็นนายก เส้นทางสวรรค์สู่เก้าอี้ผู้นำตึกไทยคู่ฟ้าของโจทก์มีอุปสรรคอีกแล้ว รอยเตอร์ตีพิมพ์ใหม่ออสเตรเลียไม่ให้วีซ่าเข้าประเทศอีกแล้ว ข้อหาเดิมยาเสพติด มีรายละเอียดต่อหน้า 11 ตอนหนึ่งว่า ถ้าเขามาทำเรื่องขอวีซ่าเขาจะได้รับการปฏิเสธตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.6 ซึ่งโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และความผิดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 คดีดังกล่าว (จำเลยที่ 2 คดีนี้) ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 คดีดังกล่าว(จำเลยที่ 1 คดีนี้) คดีถึงที่สุดแล้ว ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1691/2537ของศาลจังหวัดแพร่

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาสรุปได้ว่า ข่าวเกี่ยวกับโจทก์นั้นได้มีสำนักข่าวและหนังสือพิมพ์ต่างประเทศต่างกระจายข่าวและตีพิมพ์ลงข่าววิจารณ์กันเกรียวกราวทั่วโลก จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์สื่อมวลชนโดยหน้าที่และจรรยาบรรณแล้ว ต้องนำข่าวดังกล่าวเสนอต่อประชาชนให้ทราบอันเป็นประโยชน์สาธารณะตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามสมควรในวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยและขณะนั้นเป็นช่วงระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งมีรายงานว่าโจทก์จะได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอันเป็นตำแหน่งสำคัญยิ่งของประเทศ ดังนั้น บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นที่ยอมรับนับถือและศรัทธาของประชาชน มีความซื่อสัตย์สุจริตไม่มัวหมองการที่บุคคลใดจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นย่อมถือว่าเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง หากจำเลยที่ 2 ไม่ลงข่าวสารข้อมูลดังกล่าวเท่ากับเป็นการปิดหูปิดตาประชาชนทั่วประเทศ ผิดจรรยาบรรณของสื่อมวลชนนักหนังสือพิมพ์จึงจำต้องเสนอข่าวให้ประชาชนทราบจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสื่อมวลชนนักหนังสือพิมพ์และประชาชนผู้รับข่าวสารมีทางได้เสียโดยชอบและจำเลยที่ 2 ผู้ไขข่าวก็มิได้รู้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นความไม่จริง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 นั้น เห็นว่า แม้โจทก์เป็นนักการเมืองที่ถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะที่สมควรต้องถูกตรวจสอบได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความประพฤติ การประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ตามสมควรก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะสื่อมวลชนนักหนังสือพิมพ์ก็ต้องมีวิจารณญาณตามสมควรที่จะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการล่วงสิทธิขั้นพื้นฐานของโจทก์ ด้วยการเสนอข้อความอันฝ่าฝืนความจริงต่อประชาชนก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ ทำให้ประชาชนดูหมิ่นเกลียดชังโจทก์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423วรรคแรกที่บัญญัติว่า “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้” จำเลยที่ 2 ในฐานะสื่อมวลชนนักหนังสือพิมพ์ที่จะนำข่าวต่าง ๆ ที่ได้รับไม่ว่าทางใดมาไขข่าวให้แพร่หลายต่อไป ย่อมมีหน้าที่ตรวจสอบก่อนว่าข่าวที่ได้รับนั้นเป็นความจริงหรือไม่เพียงใด เพราะการเสนอแต่ข่าวที่เป็นความจริงน่าจะเป็นการกระทำโดยชอบด้วยจรรยาบรรณของสื่อมวลชนนักหนังสือพิมพ์ มิใช่เรื่องที่จะเป็นการปิดหูปิดตาประชาชนแต่อย่างใดการที่จำเลยที่ 2 เสนอข่าวเกี่ยวกับโจทก์ให้ประชาชนทราบโดยอ้างแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 ผู้ไขข่าวมิได้รู้ว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงเท่านั้น ย่อมไม่อาจทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิด เมื่อข่าวที่จำเลยที่ 2ไขข่าวต่อนั้นเป็นข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ประชาชนผู้ไม่รู้ความจริงที่ได้รับข่าวที่จำเลยที่ 2 ไขข่าวเกี่ยวกับโจทก์ให้แพร่หลายย่อมจะดูหมิ่นเกลียดชังโจทก์ได้ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณทางทำมาหาได้และทางเจริญของโจทก์ ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 2ดังกล่าว โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และความผิดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 คดีดังกล่าว (จำเลยที่ 2 คดีนี้) ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 คดีดังกล่าว (จำเลยที่ 1คดีนี้) คดีถึงที่สุดแล้ว ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1691/2537 ของศาลจังหวัดแพร่ ข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวที่รับฟังว่าจำเลยที่ 1 คดีดังกล่าว(จำเลยที่ 2 คดีนี้) ใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสารซึ่งทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชังนั้นโดยคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว คำพิพากษา ส่วนอาญาย่อมผูกพันจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 จำเลยที่ 2 ไม่อาจโต้เถียงข้อเท็จจริงให้รับฟังเป็นอย่างอื่นได้การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้รับเพียง 5,000,000 บาท นั้น ยังเป็นจำนวนที่ไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดของจำเลยที่ 2 เพราะโจทก์เป็นบุคคลมีชื่อเสียง มีเกียรติคุณ เป็นนักการเมืองอาวุโส หลังจากจำเลยที่ 2ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว โจทก์ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสูญสิ้นอนาคตทางการเมืองยิ่งการใส่ร้ายว่าโจทก์พัวพันการค้าเฮโรอีนกระทั่งประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลียขึ้นบัญชีดำบุคคลผู้ค้ายาเสพติดของหน่วยปราบปรามยาเสพติดของทั้งสองประเทศไม่ให้วีซ่าเข้าประเทศ ฐานเป็นนักค้าเฮโรอีนระดับโลก ซึ่งเป็นที่น่ารังเกียจและร้ายแรงอันเป็นการเสนอข่าวมุ่งหวังเพื่อทำลายชื่อเสียงของโจทก์ จึงเป็นเรื่องยากจะเยียวยาความเสียหาย จำเลยที่ 2 ได้ทำลายชื่อเสียงของโจทก์และวงศ์ตระกูลจนยับเยิน ความเสียหายที่โจทก์ได้รับมากมายมหาศาล ขอให้กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 10,000,000 บาท และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 2 ลงข่าวสารเกี่ยวกับโจทก์ดังกล่าวนั้นไม่ได้ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติคุณ และอาจสูญเสียโอกาสทางการเมืองในภายภาคหน้าแต่อย่างใด เพราะหลังจากจำเลยที่ 2ลงข่าวแล้ว โจทก์ยังได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่อีก ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นไม่เกี่ยวกับการลงข่าวของจำเลยที่ 2 แต่ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งกระแสทางการเมือง ความศรัทธาของประชาชนและบารมีที่โดดเด่นของบุคคลด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 5,000,000 บาท จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2ได้ไขข่าวกล่าวว่าโจทก์เกี่ยวข้องกับการค้าขายเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง ซึ่งผู้ใดกระทำการดังกล่าวนี้ นอกจากจะเป็นการกระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ยังถือได้ว่าประพฤติตนเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ตลอดถึงเป็นภัยต่อเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติเป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป ยิ่งโจทก์เป็นบุคคลที่รู้จักในหมู่ประชาชนคนไทยว่าเป็นนักการเมืองอาวุโสเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ติดต่อกันหลายสมัย เป็นหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม เคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองเป็นรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ตลอดจนมีโอกาสที่จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกด้วย อันถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีชื่อเสียงและเกียรติคุณอย่างมากผู้หนึ่งในประเทศ เมื่อวิญญูชนได้รับข่าวสารที่จำเลยที่ 2 ได้ไขข่าวเกี่ยวกับโจทก์ดังกล่าวให้แพร่หลายเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริงเช่นนั้นย่อมเป็นที่คลางแคลงในตัวโจทก์ ทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณของโจทก์แล้วจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เมื่อพิจารณาตามพฤติการณ์แห่งรูปคดีและความร้ายแรงแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 กระทำต่อโจทก์ดังกล่าวนั้น เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์เหมาะสมชอบแล้ว ไม่มีเหตุใด ๆที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์อีกว่า การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาและคำขออภัยในหนังสือพิมพ์อันเป็นการบรรเทาผลร้ายแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 เพื่อให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ได้กลับคืนดีเป็นการไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อได้มีคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาให้จำเลยที่ 1 คดีดังกล่าว (จำเลยที่ 2 คดีนี้)ที่ถูกลงโทษต้องโฆษณาคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์รายวัน 4 ฉบับ คือ ผู้จัดการรายวัน ไทยรัฐ เดลินิวส์ และมติชน ด้วย เนื้อที่ 1 ใน 2 ของหน้าหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับติดต่อกัน5 วัน โดยจำเลยที่ 1 คดีดังกล่าว (จำเลยที่ 2 คดีนี้) เป็นผู้ชำระค่าโฆษณาตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1691/2537 ของศาลจังหวัดแพร่แล้วนั้นแม้ในคดีส่วนแพ่งนี้ศาลชอบจะมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 รับผิดชอบจัดการโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ได้อีก อันเป็นทางแก้เพื่อให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ได้กลับคืนดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 447 ก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 447 นั้น เป็นบทบัญญัติให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งให้จำเลยที่ 2 จัดการตามที่โจทก์ขอดังกล่าวหรือไม่ก็ได้ตามสมควรเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า กรณีเรื่องเดียวกันนี้ในคดีส่วนอาญาตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1691/2537 ของศาลจังหวัดแพร่ได้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ต้องโฆษณาคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์แล้ว แม้จะเป็นกรณีที่ศาลในคดีอาญาได้สั่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332(2) ก็ตาม แต่ก็เป็นการให้จำเลยที่ 2จัดการตามสมควรซึ่งเป็นทางแก้เพื่อให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์กลับคืนดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 447 นั่นเองซึ่งเป็นการเพียงพอที่จะแก้ไขให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับคืนดีแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องโฆษณาในคดีนี้ต่อไปอีก ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำขอส่วนนี้ของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share