คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2895/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 จำเลยให้การรับสารภาพ และตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องระบุว่า สภาพทั่วไปผู้เสียหายรู้สึกตัวดี มีอาการปวดศีรษะ ลักษณะการบาดเจ็บ ฟกช้ำบริเวณคางใต้ตาซ้าย ริมฝีปากล่าง ชายโครงซ้ายและน่อง ใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 5 วัน การบาดเจ็บเช่นนี้ถือว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายแล้วการกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295
ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยและเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายและในปัญหาข้อเท็จจริงแม้ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษเนื่องจากปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี ก็ตามแต่ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติความประพฤติของจำเลยตลอดจนสภาพความผิดประกอบกันแล้วกรณีมีเหตุอันควรปรานีเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีและประกอบสัมมาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ต่อไป ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง แต่ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้และคุมความประพฤติจำเลยไว้นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 จำคุก 30 วัน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก15 วัน โทษจำคุกให้เปลี่ยนเป็นกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 23

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 หรือมาตรา 391 เห็นว่า ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องระบุว่า สภาพทั่วไปผู้เสียหายรู้สึกตัวดีมีอาการปวดศีรษะ ลักษณะการบาดเจ็บ ฟกช้ำบริเวณคาง ใต้ตาซ้ายริมฝีปากล่าง ชายโครงซ้ายและน่อง ความเห็นแพทย์ ใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 5 วัน การบาดเจ็บเช่นนี้ถือว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายแล้ว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น แม้ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลยเนื่องจากเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี ก็ตามแต่ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเพียงแต่ใช้กำลังประทุษร้าย ชก ต่อย เตะและถีบผู้เสียหายเท่านั้น ตามพฤติการณ์ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติของจำเลยตลอดจนสภาพความผิดประกอบกันแล้ว กรณีจึงมีเหตุอันควรปรานีเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี และประกอบสัมมาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยและเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ เห็นควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง แต่ให้ลงโทษปรับจำเลย 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 2,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้งมีกำหนด 1 ปี ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีก กับให้จำเลยกระทำกิจการบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share