แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำแจ้งความคดีออกเช็คไม่มีเงินจ่ายว่า ‘จึงได้มา แจ้งไว้เป็นหลักฐาน’ ไม่เป็นเจตนาให้สอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาไม่เป็นร้องทุกข์ตามกฎหมาย
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำคุก 45 วัน ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โดยที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในเรื่องคำแจ้งความของโจทก์ว่ามิใช่คำร้องทุกข์ เป็นการคลาดเคลื่อนต่อข้อกฎหมาย โจทก์เห็นว่าคำแจ้งความของโจทก์เป็นคำร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยแล้ว ดังนั้นในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ฎีกามาศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาก็คือสำเนารายงานประจำวันธุรการของพนักงานสอบสวนสถานี ตำรวจภูธรอำเภอเมืองราชบุรี เอกสารหมาย จ.3 เอกสารดังกล่าวมีใจความว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2519 โจทก์ได้มาสถานีตำรวจแจ้งว่าจำเลยยืมเงินจากโจทก์ 20,000 บาทโดยจ่ายเช็คของธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาราชบุรี เลขที่ 482725 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2519 ครั้นเช็คถึงกำหนด โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชี แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายโดยให้เหตุผลในใบคืนเช็คว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย โจทก์ติดต่อกับจำเลยหลายครั้งแต่จำเลยไม่ยอมติดต่อกับโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงได้นำความมาแจ้งไว้เป็นหลักฐาน
ปัญหาว่าคำแจ้งความของโจทก์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายหรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7)วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “คำร้องทุกข์” ไว้ว่า หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษแต่ปรากฏจากสำเนารายงานประจำวันธุรการเอกสารหมาย จ.3 ไม่มีข้อความตอนใดที่มีความหมายว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย กลับมีข้อความเพียงว่า “จึงได้นำความมาแจ้งไว้เป็นหลักฐาน”การที่โจทก์แจ้งความไว้เพียงเพื่อให้เป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยเช่นนี้ ถือมิได้ว่าเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย”
พิพากษายืน