คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยต่อสู้เพียงว่า มิได้เป็นคนร้ายลักทรัพย์ ต่อมาในชั้นฎีกา จำเลยฎีกาว่าทรัพย์อยู่ในความครอบครองของจำเลย ถ้าจะมีความผิดก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 แต่ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 334 ถือได้ว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาต่างกับคำฟ้อง ชอบที่จะยกฟ้อง ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าทรัพย์อยู่ในความครอบครองของจำเลยนั้น ไม่ได้ยกขึ้นว่าในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้างอิงจึงไม่เกิดขึ้น ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225(อ้างฎีกาที่ 1478/2497)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลักประตูเหล็ก 1 บานของนายไพบูลย์ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยไปโดยทุจริต จำเลยที่ 2 รับซื้อประตูเหล็กนั้นไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นของที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11), 357 และสั่งคืนประตูเหล็กของกลางให้ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 จำคุก 1 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า มิได้ขายประตูเหล็กให้จำเลยที่ 2

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า ประตูเหล็กของกลางอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ถ้าจะมีความผิดก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 แต่ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 334 ถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนแตกต่างกับคำฟ้อง ชอบที่จะยกฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 ต่อสู้แต่เฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่ามิได้เป็นคนร้ายลักประตูเหล็กของกลางเท่านั้น ส่วนข้อที่ว่าประตูเหล็กของกลางอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 หาได้ยกขึ้นว่าในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ปรากฏในสำนวน ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างอิงจึงไม่เกิดขึ้น จะรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณามิได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225

พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1

Share