คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1514/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาจ้างผู้ว่าจ้างจะแบ่งจ่ายเงินให้เป็นงวด ๆ คือ งวดที่ 1 เงิน 56,900 บาท จะจ่ายให้เมื่อผู้รับจ้างได้ทำงานงวดนั้นเสร็จ โดยผู้รับจ้างต้องนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารภายในวงเงิน 56,900 บาทมามอบให้กับผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นประกันเงินที่ได้รับไป หากปฏิบัติงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาให้เรียกเงินค้ำประกันจำนวน 56,900 บาท จากธนาคารได้ทันที จะคืนหนังสือค้ำประกันให้เมื่อคณะกรรมการฯ ได้ตรวจรับงานงวดที่สองแล้ว ข้อความในสัญญาที่ว่า หากปฏิบัติงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาให้เรียกเงินค้ำประกันจำนวน 56,900 บาท คืนจากธนาคารได้ทันทีนั้นต้องหมายความถึงการที่ผู้รับจ้างผิดสัญญาตั้งแต่งานงวดที่ 2 เป็นต้นไป ธนาคารจะหมดความรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวต่อเมื่อมีการตรวจรับงานงวดที่ 2 โดยผู้ว่าจ้างคืนหนังสือค้ำประกันให้แล้ว เมื่อผู้รับจ้างผิดสัญญาทำงานงวดที่สองไม่เสร็จ ก็ต้องร่วมกับธนาคารคืนเงินค่าจ้างงวดที่ 1 ให้แก่ผู้ว่าจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 รับเหมาเปลี่ยนสายเคเบิลใต้น้ำที่สะพานพุทธยอดฟ้า บริษัทธนาคารจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันทั้งความเสียหายทั่วไป และค้ำประกันการรับเงินงวดที่ 1 ของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำงานงวดที่ 1 เสร็จ โจทก์ตรวจรับมอบงานและจ่ายเงินงวดที่ 1 เป็นเงิน 56,900 บาท ให้จำเลยที่ 1 เรียบร้อยไปแล้ว ส่วนงานงวดที่ 2 จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์เสียหายจำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าปรับให้โจทก์ 78,000 บาท และค่าเสียหาย 12,845 บาท และชดใช้เงินค่าจ้างที่รับไปสำหรับงานงวดที่ 1 เป็นเงิน 56,900 บาท รวมทั้งสิ้น 147,745 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องรับผิดรวมเป็นเงิน 69,745 บาท ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 147,745 บาท ถ้าไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระ 69,745 บาท

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ทำสัญญาตามฟ้องจริง แต่ฟ้องเคลือบคลุม จำเลยทำงานงวดที่ 1 เสร็จตามสัญญาและโจทก์รับมอบงานไปแล้ว โจทก์ไม่เสียหายไม่มีสิทธิเรียกเงินสำหรับงานงวดนี้คืน จำเลยทำงานงวดที่ 2 ไม่เสร็จเพราะเหตุสุดวิสัย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ค่าปรับก็ปรับได้ไม่เกินวันละ 100 บาท

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันในนามจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 ทำงานงวดที่ 1 เสร็จแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด โจทก์ผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด หากจะรับผิดก็เฉพาะตามสัญญาค้ำประกันทั่วไป

ศาลชั้นต้นฟังว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย ต้องคืนเงินงวดที่ 1 ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันทั้งสองฉบับ จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดด้วยพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 72,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 69,745 บาทพร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์หมดสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างงวดที่ 1 จากจำเลยที่ 1 และเงินค้ำประกันงวดที่ 1 จากจำเลยที่ 2 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินค่าปรับแก่โจทก์ 15,600 บาทพร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงิน 12,845 บาทแก่โจทก์

โจทก์ฎีกา ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในเงินค่าจ้างงวดที่ 1 ด้วย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาจ้างระบุว่า “การจ้างรายนี้ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างได้ตกลงราคากันรวมทั้งค่าสิ่งของสัมภาระและค่าแรงงานเป็นเงิน256,900 บาท และผู้ว่าจ้างจะแบ่งจ่ายให้เป็นงวด ๆ คือ งวดที่ 1 เงิน 56,900บาท จะจ่ายให้เมื่อผู้รับจ้างได้เตรียมงานวางสายพร้อมทั้งมีอุปกรณ์ส่วนประกอบของการวางสายบางส่วน และทำการหล่อคอนกรีตสมอสำหรับถ่วงสายเคเบิลจนครบตามจำนวนที่ต้องการใช้งานเรียบร้อยแล้ว โดยผู้รับจ้างต้องนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารภายในวงเงิน 56,900 บาท มามอบให้กับกรมโยธาเทศบาล เพื่อเป็นประกันเงินที่ได้รับไป หากปฏิบัติงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาให้เรียกเงินค้ำประกันจำนวน 56,900 บาท จากธนาคารได้ทันที จะคืนหนังสือค้ำประกันให้ เมื่อคณะกรรมการฯ ได้ตรวจรับงานงวดที่ 2 แล้ว ซึ่งจะแล้วเสร็จในวันที่ 30 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ 2515 งวดที่ 2 ฯลฯ” ข้อความในสัญญาดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า โจทก์ผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินค่าจ้างงวดที่ 1 ให้จำเลยที่ 1ผู้รับจ้างตามข้อสัญญาต่อเมื่องานงวดที่ 1 เสร็จ และมีการตรวจรับมอบงานงวดที่ 1 ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การผิดสัญญาก่อสร้างงวดที่ 1 ภายหลังที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินงวดที่ 1 ไปจากโจทก์ผู้ว่าจ้างแล้วย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ข้อความในสัญญาที่ว่า “ฯลฯ หากปฏิบัติงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ให้เรียกร้องเงินค้ำประกันจำนวน 56,900 บาทคืนจากธนาคารได้ทันที” นั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อความในสัญญาข้อที่ว่าผู้รับจ้างจะต้องนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารเมื่อจะขอรับเงินงวดที่ 1 เป็นเงิน 56,900 บาท มาวางต่อผู้ว่าจ้างแล้ว ต้องหมายความถึงการที่จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างผิดสัญญาก่อสร้างตั้งแต่งานงวดที่ 2 เป็นต้นไป ธนาคารจะหมดความรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวต่อเมื่อมีการตรวจรับงานงวดที่ 2 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาทำงานงวดที่ 2 ไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องคืนเงินค่าจ้างงวดที่ 1แก่โจทก์

พิพากษาแก้เป็นให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share