แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
นิยามคำว่า “จำหน่าย” หมายความถึง ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้การที่จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจดูโดยไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ถึงแม้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะยังมิได้ส่งมอบค่าเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลย แล้วจำเลยก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับการกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว เพราะจำเลยมีเจตนาจะจำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว จึงมิใช่เป็นเพียงความผิดฐานพยายามจำหน่าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำคุก5 ปี คำรับสารภาพของจำเลยชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 จำคุก3 ปี 4 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 2 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและอ้างว่ายึดเมทแอมเฟตามีนได้จำนวน 7 เม็ด ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกสุรเชษฐ์กับสิบตำรวจตรีชัยณรงค์ ผู้จับกุมเบิกความเป็นพยานว่า ก่อนจับกุมมีสายลับมาแจ้งให้ทราบว่าจำเลยมีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายยาเสพติดบริเวณตำบลค้อเหนือ อำเภอเมืองยโสธร วันเกิดเหตุพยานทั้งสองกับพวกรวม10 คน วางแผนล่อซื้อจับกุม โดยให้สิบตำรวจตรีชัยณรงค์ปลอมตัวไปกับสายลับและนำเงินไปล่อซื้อ ร้อยตำรวจเอกสุรเชษฐ์กับพวกซุ่มดูอยู่ห่างจากจุดล่อซื้อประมาณ 50 เมตร บริเวณที่ล่อซื้อเป็นศาลาที่พักริมถนนเวลาประมาณ 17 นาฬิกา เห็นจำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่ศาลา สายลับกับสิบตำรวจตรีชัยณรงค์พูดกับจำเลย สิบตำรวจตรีชัยณรงค์ขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยจำนวน 10 เม็ด และล้วงกระเป๋าหยิบธนบัตรออกมานับและขอดูเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้สิบตำรวจตรีชัยณรงค์ดูจำนวน 7 เม็ด สิบตำรวจตรีชัยณรงค์จึงเก็บเงินใส่กระเป๋าและแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจโบกมือให้สัญญาณและเข้าจับกุมตัวจำเลย ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกเอกสารหมาย จ.2 และ ป.จ.1 เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน จุดที่ล่อซื้อและจับกุมเป็นศาลาที่พักริมทาง เชื่อว่าพยานโจทก์ที่ซุ่มดูอยู่น่าจะเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะสิบตำรวจตรีชัยณรงค์ได้แสดงตัวและจับกุมจำเลยทันทีเมื่อจำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้ ฉะนั้น ถึงแม้ว่าคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสุรเชษฐ์กับสิบตำรวจตรีชัยณรงค์จะมีข้อแตกต่างกันบ้างเกี่ยวกับเวลาที่วางแผนออกไปล่อซื้อจับกุมและจำนวนเงินที่ใช้ล่อซื้อ ก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งจำเลยเองเบิกความรับว่า นายเนตรสายลับของเจ้าพนักงานตำรวจบอกให้ไปช่วยซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนางกุลโดยให้ค่าจ้าง 100 บาท สายลับมอบเงินให้จำนวน 1,400 บาท จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนางกุลทั้งหมด ถ้าเป็นจริงดังจำเลยกล่าวอ้าง การที่จำเลยอ้างว่าระหว่างทางได้ขว้างเมทแอมเฟตามีนทิ้งข้างทางทั้งหมดนั้นไม่น่าเป็นไปได้ เพราะจำเลยต้องนำเมทแอมเฟตามีนไปมอบให้กับนายเนตรพร้อมทั้งรับเงินค่าจ้างจำนวน 100 บาท เมื่อสิบตำรวจตรีชัยณรงค์ยืนยันว่าเมทแอมเฟตามีนจำนวน7 เม็ด จำเลยนำมาจำหน่ายให้ ฉะนั้น จากคำเบิกความพยานโจทก์ดังกล่าวเมื่อพิจารณาประกอบคำรับสารภาพของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 และป.จ.1 แม้ว่าในชั้นจับกุมจำเลยจะกล่าวอ้างว่ามีการซ้อมทำร้ายร่างกายก็ตามแต่ก็เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งในชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนจะรู้จักกับจำเลยหรือมีสาเหตุกับจำเลยมาก่อนอันจะเป็นเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้ง อีกทั้งจำเลยเบิกความรับว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ทำร้ายจำเลย และยินยอมลงชื่อในเอกสารหมาย ป.จ.1 ข้อเท็จจริงรับฟังเชื่อได้มั่นคงว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจริงตามฟ้อง เพราะตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4 นิยามคำว่า “จำหน่าย” หมายความถึง ขาย จ่าย แจกแลกเปลี่ยน ให้ การที่จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจดูโดยไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ถึงแม้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะยังมิได้ส่งมอบค่าเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลย แล้วจำเลยก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับ การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว เพราะจำเลยมีเจตนาที่จะจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอยู่ก่อนแล้วมิใช่เป็นเพียงความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องแต่ไม่อาจแก้โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามา เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่งนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3