แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะที่ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ร้องได้ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการเพราะทุจริตต่อหน้าที่ แม้ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจอันเป็นเหตุให้คำสั่งลงโทษยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม แต่เมื่ออุทธรณ์ของผู้ร้องยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ก็ต้องถือว่าคำสั่งที่ลงโทษไล่ผู้ร้องออกจากราชการยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งผู้ร้องจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(คำสั่งศาลฎีกา)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านรับสมัครผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดสตูล
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องถูกลงโทษไล่ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามคำสั่งจังหวัดสตูลที่ 515/2543 ลงวันที่ 23 มีนาคม2543 แม้คำสั่งดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด ก็ต้องถือว่าผู้ร้องมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 109(6) ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นสืบพยานแทนศาลฎีกาแล้ว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541มาตรา 29 บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งจะมีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือจะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ” และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 109 บัญญัติว่า”บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ
(1) …
(6) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ” ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าขณะที่ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543ผู้ร้องได้ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการเพราะทุจริตต่อหน้าที่ แม้ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจอันเป็นเหตุให้คำสั่งลงโทษยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม แต่เมื่ออุทธรณ์ของผู้ร้องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และคณะกรรมการชุดดังกล่าวยังมิได้มีมติเปลี่ยนแปลงคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่ผู้ร้องก็ต้องถือว่าคำสั่งจังหวัดสตูลที่ลงโทษไล่ผู้ร้องออกจากราชการยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ร้องจึงได้ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้เคยถูกไล่ออกจากราชการเพราะทุจริตต่อหน้าที่ และเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 109(6) การที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งนั้นชอบแล้ว”
จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง